IAMS TH
puppy deworm
puppy deworm

adp_description_block93
วิธีการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

  • แบ่งปัน

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพของลูกสุนัขตัวน้อย การถ่ายพยาธิเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดหนอนพยาธิหรือปรสิตตัวร้ายที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ การทำความเข้าใจวิธีการถ่ายพยาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าตัวน้อย ไม่ว่าพวกเค้าจะเคยติดเชื้อหนอนพยาธิมาก่อน หรือเพียงแค่ต้องการป้องกันเอาไว้

 

แต่หนอนพยาธิคืออะไรกันแน่? และลูกสุนัขได้รับมันมาได้อย่างไร? หนอนพยาธิที่พบได้บ่อยในสุนัข ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด เจ้าปรสิตเหล่านี้มักจะปะปนอยู่ในดิน น้ำ หรืออาหารที่ปนเปื้อน โดยพวกมันอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา

 

โดยเราได้รวบรวมทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัขมาให้แล้ว ทั้งอาการที่ควรระวัง กระบวนการถ่ายพยาธิ และวิธีดูแลเจ้าตัวน้อยให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงหรือเพียงแค่ต้องการทบทวนความรู้ บทความนี้ช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

 

4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

การถ่ายพยาธิเป็นส่วนสำคัญในการรับเลี้ยงและการดูแลน้องหมา แต่วิธีการถ่ายพยาธิมีให้เลือกมากมาย จนอาจสร้างความสับสนให้กับผู้เลี้ยงหลาย ๆ คน เราจึงจะมาเผยข้อควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข ทั้งเรื่องความถี่ในการถ่ายพยาธิ วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และความสำคัญของการป้องกันพยาธิตัวร้าย เพื่อให้กระบวนการนี้ผ่านไปได้อย่างราบรื่นและเห็นผล เมื่อเข้าใจปัจจัยสำคัญทั้งหมดนี้แล้ว คุณก็จะมั่นใจได้ว่าเจ้าตัวน้อยจะมีความสุขและมีสุขภาพดีในทุกวัน

 

  1. ดูแลลูกสุนัขตัวน้อยให้แข็งแรงและมีความสุขด้วยการถ่ายพยาธิเป็นประจำ

การถ่ายพยาธิจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิและปรสิตตัวร้าย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกสุนัขได้ โดยพวกเค้าจำเป็นต้องได้รับการถ่ายพยาธิเป็นประจำ เนื่องจากมีขนาดตัวเล็กและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

เราควรถ่ายพยาธิลูกสุนัขทุก 2 สัปดาห์ไปจนถึงอายุ 3 เดือน จากนั้นต้องถ่ายพยาธิทุกเดือนจนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าหนอนพยาธิถูกกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การถ่ายพยาธิสุนัขที่ตั้งท้องก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากพวกเค้าสามารถส่งต่อพยาธิไปยังลูกสุนัขในท้องได้

นอกจากการถ่ายพยาธิเป็นประจำแล้ว การดูแลรักษาความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิ อย่าลืมล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสหรือเล่นกับน้องหมา และทำความสะอาดพื้นที่ขับถ่ายทันทีที่น้องหมาทำธุระส่วนตัวเสร็จ

การถ่ายพยาธิเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพน้องหมา การถ่ายพยาธิตามกำหนดเวลาและการดูแลความสะอาดจะช่วยปกป้องเจ้าก้อนขนปุกปุยของคุณจากปรสิตตัวร้ายที่เป็นอันตรายได้อย่างแน่นอน

 

  1. หนอนพยาธิชนิดต่าง ๆ ที่พบได้ในลูกสุนัข

ลูกสุนัขสามารถติดเชื้อหนอนพยาธิได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด ซึ่งเจ้าปรสิตเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน น้ำหนักลด และภาวะโลหิตจาง 

แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ อย่างพยาธิตัวตืดจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กและมักจะปะปนอยู่ในอุจจาระ นอกจากนี้หนอนพยาธิบางชนิดก็อาศัยอยู่ในลำไส้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เจ้าของจึงจำเป็นต้องถ่ายพยาธิให้น้องหมาเป็นประจำ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว

 

  1. ทำความเข้าใจสัญญาณเตือนและอาการติดเชื้อพยาธิในลูกสุนัข

ลูกสุนัขที่ติดเชื้ออาจมีอาการผิดปกติหลายอย่าง แต่อาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในน้องหมาที่มีอายุน้อยและมีขนาดตัวเล็ก แต่อาการทั่วไปที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ท้องเสียหรือถ่ายเหลว – อาจเกิดจากหนอนพยาธิไปรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร 
  • น้ำหนักตัวลด – หนอนพยาธิสามารถแย่งสารอาหารจากร่างกายของลูกสุนัข ทำให้พวกเค้าน้ำหนักตัวลดลงได้
  • ภาวะโลหิตจาง – พยาธิปากขอจะดูดเลือดของลูกสุนัขเป็นอาหาร ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง โดยน้องหมาอาจมีเหงือกสีซีดและมีอาการอ่อนเพลีย
  • อาเจียน – หนอนพยาธิอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ จนนำไปสู่การอาเจียนได้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง – เนื่องจากแย่งสารอาหาร ดูดเลือด และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย น้องหมาที่ติดเชื้อจึงมักมีอาการอ่อนเพลียและไม่ค่อยทำกิจกรรม

การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ เนื่องจากพวกเค้าได้รับเชื้อจากแม่ตั้งแต่ก่อนคลอด การสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิดและการถ่ายพยาธิเป็นประจำ จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยของคุณมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุข ทั้งนี้หากสงสัยว่าลูกสุนัขติดเชื้อพยาธิ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักการรักษาในทันที

 

  1. วิธีการถ่ายพยาธิลูกสุนัขที่มีประสิทธิภาพ

หนอนพยาธิเป็นปัญหาที่พบบ่อยในลูกสุนัขและมักจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา โดยหนอนพยาธิที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิตัวตืด โดยน้องหมาที่ติดเชื้ออาจมีอาการอาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด และพุงป่อง

การถ่ายพยาธิไม่ใช่กระบวนการที่ซับซ้อนและสามารถทำได้ง่าย เพียงแต่ต้องทำเป็นประจำหรือตามนัดหมายของสัตวแพทย์ ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิลูกสุนัขทุก ๆ 2 - 3 สัปดาห์จนกว่าจะถึงวัยที่กำหนด การรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดและคอยดูแลไม่ให้ลูกสุนัขกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน

หากเจ้าตัวน้อยของคุณติดเชื้อ สัตวแพทย์อาจจ่ายยาถ่ายพยาธิให้กินหรือให้ฉีดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเจ้าของควรดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำจากคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและเห็นผล

แม้น้องหมาจะไม่มีอาการติดเชื้อใด ๆ แต่ก็ยังจำเป็นต้องถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในอนาคต

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

  1. จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมามีพยาธิ?
  2. หากต้องการรู้ว่าน้องหมาติดเชื้อพยาธิหรือไม่ ควรพาพวกเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายและใช้วิธีตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิ โดยอาการติดเชื้อที่อาจพบได้ จะมีอาการท้องเสีย น้ำหนักลด และอาจสังเกตเห็นพยาธิในอุจจาระ

  3. เราสามารถถ่ายพยาธิน้องหมาเองที่บ้านได้หรือไม่?
  4. การถ่ายพยาธิควรทำโดยสัตวแพทย์ เนื่องจากคุณหมอสามารถวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยาถ่ายพยาธิบางชนิดอาจมีวิธีใช้เฉพาะหรืออาจไม่ปลอดภัยสำหรับลูกสุนัข ทางที่ดีจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนถ่ายพยาธิลูกสุนัขด้วยตัวเอง

  5. ควรถ่ายพยาธิให้น้องหมาบ่อยแค่ไหน?
  6. ลูกสุนัขควรถ่ายพยาธิเมื่อมีอายุ 2, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ และอีกครั้งเมื่อมีอายุ 12 และ 16 สัปดาห์ เมื่อลูกสุนัขอายุครบ 6 เดือน แนะนำให้ถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 - 6 เดือน คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อกำหนดตารางการถ่ายพยาธิที่เหมาะสม เนื่องจากลูกสุนัขแต่ละตัวมีเงื่อนไขและสภาพร่างกายแตกต่างกัน

  • ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    adp_description_block158
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

    • แบ่งปัน

    ยินดีด้วย! หากคุณเพิ่งได้รับลูกสุนัขตัวใหม่ เรารู้ดีว่าการพาลูกสุนัขเข้าบ้านครั้งแรกเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกและตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงเจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็มักจะมาพร้อมความท้าทายและความรับผิดชอบใหม่ ๆ ซึ่งหน้าที่แรกของพ่อแม่มือใหม่คือการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้อยู่ในบ้านหลังใหม่อย่างมีความสุข
     

    โดยควรเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นหลังรับลูกสุนัขเข้าบ้านแล้ว ทั้งนี้พ่อแม่มือใหม่บางคนอาจรู้สึกกังวลเมื่อต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัย เราจึงรวบรวมรายชื่อสิ่งของที่จำเป็น พร้อมด้วยเคล็ดลับดี ๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้การต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ของคุณง่ายยิ่งขึ้น
     

    วิธีอุ้มลูกสุนัขที่ถูกต้อง

    ความน่ารักน่ากอดของลูกสุนัขไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สิ่งนี้ทำให้ทุกคนอดรนทนไม่ไหว ต้องอุ้มพวกเค้าขึ้นมากอดมาคลอเคลียทุกครั้งที่พบเจอ อย่างไรก็ตาม ลูกสุนัขอยู่ในช่วงวัยกำลังพัฒนา หากอุ้มผิดวิธีอาจทำให้พวกเค้ารู้สึกไม่สบายตัวหรือถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ จึงขอแนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – วางมือข้างหนึ่งไว้ใต้สะโพกของลูกสุนัข ส่วนอีกมือหนึ่งให้วางไว้ใต้หน้าอก
    2. ขั้นตอนที่ 2 – ยกลูกสุนัขขึ้นด้วยแขนทั้งสองข้าง คุณสามารถใช้เทคนิคนี้กับสุนัขตัวเล็กได้ แต่สำหรับสุนัขตัวใหญ่ ให้โอบแขนทั้งสองข้างรอบขา จากนั้นดึงไปที่หน้าอกแล้วค่อยยกขึ้น

    รวมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับลูกสุนัข

    เช็กลิสต์สิ่งจำเป็นที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนพาเจ้าตัวน้อยกลับบ้าน มีดังนี้

    1. อาหารสุนัข – แนะนำให้เลือกสูตรอาหารสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ เนื่องจากพวกเค้าต้องการแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไขมัน และโปรตีนปริมาณมาก ซึ่งทำให้อาหารสำหรับลูกสุนัขมีปริมาณแคลอรีสูงกว่าสูตรอื่น ๆ ทั้งนี้โภชนาการมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกอาหารคุณภาพดี เหมาะกับขนาดและช่วงวัย อย่างอาหารสุนัขไอแอมส์™ ที่ผลิตจากวัตถุดิบเกรดพรีเมียม ย่อยง่าย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดี มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแม้ว่าจะกินในปริมาณน้อย
    2. ขนมสำหรับสุนัข – ขนมสำหรับสุนัขมักจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือขนมสูตรเฮลตี้ ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขัดฟัน และขนมสำหรับใช้ฝึก
    3. เตียงนอน – น้องหมาควรได้ทิ้งตัวลงบนที่นอนนุ่ม ๆ หลังออกไปผจญภัยหรือวิ่งเล่นกันมาทั้งวัน โดยเตียงนอนที่ดีต้องเหมาะกับขนาดตัวของน้องหมา อาจเตรียมหมอนหนุนหรือผ้าห่มเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้พวกเค้าเพิ่มเติมได้
    4. ชามอาหารและชามน้ำ – เป็นอีกหนึ่งไอเทมสำคัญสำหรับน้องหมาทุกตัว โดยแนะนำให้เลือกจากขนาดและวิธีการกินของลูกสุนัข ไม่ควรใช้ชามใบเดียวกันทั้งสำหรับให้อาหารและให้น้ำ อาจเลือกใช้เป็นชามสเตนเลส เนื่องจากแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และไม่ดูดซับกลิ่น
    5. กรงหรือกระเป๋าสำหรับสุนัข – ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเมื่อต้องพาน้องหมาออกนอกบ้านหรือเดินทางไกล ทั้งกรงและกระเป๋ามีให้เลือกหลากหลายแบบ แต่ควรเลือกให้เหมาะกับขนาดและสายพันธุ์ของน้องหมา หรือหากต้องการพาน้องหมาขึ้นเครื่องบิน ก็ควรเลือกรูปแบบที่ได้รับการรับรองจากสายการบินนั้น ๆ เพราะจะทำให้เดินทางได้ง่ายขึ้น
    6. เสื้อผ้า – ในช่วงที่มีอากาศเย็นหรืออากาศชื้น ควรใส่เสื้อผ้าที่แห้งและสะอาดให้กับน้องหมา เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและป้องกันไม่ให้เจ้าตัวน้อยของคุณเป็นหวัด ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าเนื้อผ้าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
    7. ปลอกคอและสายจูง – ขนาดของปลอกคอและสายจูงเป็นสิ่งสำคัญ น้องหมาต้องหายใจสะดวก ไม่อึดอัด และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเมื่อสวมใส่ ควรเลือกปลอกคอที่ปรับขนาดได้และถอดออกง่าย เมื่อใส่แล้วควรมีพื้นที่ว่างระหว่างปลอกคอประมาณสองนิ้วมือ ส่วนสายจูงควรเลือกที่ทำจากเชือกไนลอนยาว 6 ฟุตหรือประมาณ 1.8 เมตร และควรมีความกว้างประมาณ ½ - ¾ นิ้ว
    8. ของเล่น – เพื่อความสุขและความสนุกของเจ้าตัวน้อย ผู้เลี้ยงควรเตรียมของเล่นหลาย ๆ ชนิดติดบ้านเอาไว้ เช่น ของเล่นสำหรับกัดแทะ ตุ๊กตานุ่มนิ่มสำหรับกอดนอน และของเล่นสำหรับฝึกทักษะ ของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้พวกเค้ากระฉับกระเฉงและสดชื่น หลีกเลี่ยงการซื้อของเล่นขนาดเล็ก เพื่อป้องกันน้องหมากินหรือกลืนเข้าไปจนเกิดอันตราย
    9. ถุงเก็บมูลสัตว์ – เมื่อพาน้องหมาออกไปเดินเล่นในที่สาธารณะ เจ้าของควรเตรียมถุงเก็บมูลสัตว์เพื่อทำความสะอาดหลังน้องหมาขับถ่าย เพราะในหลายพื้นที่มีกฎและข้อกำหนดสำหรับเรื่องนี้ หากไม่ทำตามอาจถูกปรับและโดนตักเตือนได้
    10. อุปกรณ์สำหรับการกรูมมิ่ง – แชมพู แปรงและหวี กรรไกรตัดเล็บ ยาสีฟันและแปรงสีฟัน น้ำยาทำความสะอาดสำหรับสุนัข ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลเจ้าตัวน้อยของคุณ
    11. ป้ายชื่อ – อย่าลืมสั่งทำป้ายชื่อน่ารัก ๆ ห้อยกับปลอกคอของเจ้าตัวน้อยกันด้วย ป้ายชื่อควรระบุชื่อของลูกสุนัข หมายเลขโทรศัพท์ของคุณ หรือหมายเลขโทรศัพท์คลินิกสัตว์ที่คุณไปประจำ
    12. รั้วหรือประตูกั้น – สิ่งสุดท้ายที่ควรมีคือรั้วหรือประตูกั้น สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการรบกวนเมื่อคุณต้องการเวลาส่วนตัวหรือเมื่อมีเด็กเล่นในบ้านได้เป็นอย่างดี

    การเตรียมพร้อมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น

    ผู้เลี้ยงอาจต้องจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งของบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยคุณสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – จัดเตรียมพื้นที่ขับถ่ายให้พร้อมและเริ่มฝึกพวกเค้าให้ขับถ่ายเป็นที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากลูกสุนัขขับถ่ายในที่ที่ถูกต้อง ก็ควรให้ขนมเป็นรางวัล
    2. ขั้นตอนที่ 2 – วางกรงและเบาะนอนของลูกสุนัขไว้ในที่เฉพาะ เลือกพื้นที่ที่สงบและห่างจากความวุ่นวาย เพื่อให้พวกเค้าได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในช่วงวันแรก ๆ
    3. ขั้นตอนที่ 3 – ปล่อยให้เจ้าตัวน้อยได้สำรวจบ้านใหม่และทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน แต่ก่อนอื่นควรเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อย เก็บของมีคมหรือข้าวของอันตรายให้มิดชิด และอย่าปล่อยให้พื้นลื่น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
    4. ขั้นตอนที่ 4 – แนะนำทุกคนให้รู้จักกับลูกสุนัขตัวใหม่กันตั้งแต่วันแรก คุณอาจพบว่าลูกสุนัขจะตื่นเต้นมากและจะพยายามคลุกคลีกับทุกคนรอบตัว โดยสามารถชวนลูกสุนัขเล่นด้วยได้ แต่ต้องไม่บังคับหรือทำให้พวกเค้ารู้สึกเครียด หากพวกเค้าพยายามซ่อนตัว ก็ควรปล่อยให้ใช้เวลาตามลำพัง อาจลองให้ขนมหรือลูบตัวเบา ๆ เพื่อให้พวกเค้ารู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

    การเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ให้อยู่ร่วมกับเด็กเล็ก

    ควรให้โอกาสลูก ๆ ของคุณมีส่วนร่วมในการรับเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกผูกพันกับสมาชิกใหม่ของครอบครัวมากขึ้น เมื่อได้ลูกสุนัขกลับบ้านแล้ว คุณสามารถปล่อยให้พวกเค้าเล่นด้วยกันได้ แต่ควรจำกัดเวลาการเล่นให้อยู่ในช่วง 15 – 30 นาที สองครั้งหรือสามครั้งต่อวัน เนื่องจากลูกสุนัขอยู่ในวัยที่ต้องการเวลาพักผ่อนมาก นอกจากนี้ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ อยู่กับลูกสุนัข ควรมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
     

    การแนะนำลูกสุนัขตัวใหม่กับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น

    ลูกสุนัขส่วนใหญ่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นและยังคงไร้เดียงสา จึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องแนะนำให้พวกเค้ารู้จักกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการปะทะ เริ่มด้วยการพาลูกสุนัขไปหาสุนัขที่โตกว่า ปล่อยให้พวกเค้าใช้เวลาร่วมกัน ไม่ต้องกังวลหากพวกเค้าจะดมหรือเลียกันเพราะเป็นการทักทายกันตามปกติ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มกัดหรือเห่าใส่กัน ให้รีบเข้าไปแยกออก
     

    แม้ว่าการนำลูกสุนัขกลับบ้านจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน แต่อย่าลืมเตรียมสิ่งของที่จำเป็นทั้งหมดให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์ดูแลขน เตียงนอน และขนมแสนอร่อย นอกจากนี้คุณควรสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและมั่นคงเพื่อให้ลูกสุนัขเติบโตอย่างแข็งแรง