IAMS TH
bathe a puppy
bathe a puppy

adp_description_block378
ควรอาบน้ำลูกหมาตอนไหนดีนะ?

  • แบ่งปัน

ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงหรือคุณพ่อคุณแม่มือโปร การอาบน้ำให้ลูกสุนัขคือหนึ่งในการดูแลที่คุณควรทำเป็นประจำ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้น้องหมาดูสะอาดสะอ้านเท่านั้น แต่ยังช่วยให้น้องหมามีสุขภาพผิวหนังและเส้นขนที่แข็งแรงอีกด้วย เพื่อให้เจ้าตัวน้อยดูดีและรู้สึกสบายตัว ลองทำตามเคล็ดลับการอาบน้ำง่าย ๆ ที่เรานำมาฝากกันได้เลย

เมื่อรับเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ หนึ่งในคำถามแรก ๆ ที่เจ้าของมักจะนึกถึงคือ “ลูกสุนัขอาบน้ำได้เมื่อไหร่” และ 'ต้องอาบน้ำบ่อยแค่ไหน?' เราสามารถอาบน้ำให้ลูกสุนัขได้เมื่อพวกเค้ามีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ โดยต้องอาบน้ำให้พวกเค้าอย่างระมัดระวังและอ่อนโยนที่สุด หลังจากอาบน้ำครั้งแรกแล้ว การอาบน้ำครั้งต่อ ๆ ไปควรทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น

ก่อนเริ่มอาบน้ำ ควรจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ทั้งผ้าเช็ดตัว แชมพูและครีมนวดสำหรับน้องหมาขนยาว แปรงหรือหวี และไดร์เป่าผม

 

เพื่อให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกดีระหว่างการอาบน้ำ ควรทำตามขั้นตอนเหล่านี้

  • เริ่มต้นด้วยการทำให้พวกเค้าคุ้นเคยกับน้ำ
  • เติมน้ำอุ่นลงในถังหรืออ่างอาบน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องเติมน้ำจนเต็ม แต่ให้ระดับน้ำอยู่เหนืออุ้งเท้าเพียงไม่กี่นิ้ว
  • วางลูกสุนัขลงในอ่างและปล่อยให้พวกเค้าจัดท่าทางจนกว่าจะสบายตัว ให้ขนมและพูดคุยกับพวกเค้าด้วยน้ำเสียงที่สงบและมั่นใจ

เมื่อน้องหมารู้สึกคุ้นเคยกับน้ำในอ่าง ก็ถึงเวลาอาบน้ำกันแล้ว!

 

ขั้นตอนการอาบน้ำให้ลูกสุนัขตัวน้อย

หากคุณเพิ่งอาบน้ำให้ลูกสุนัขเป็นครั้งแรก ไม่ต้องกังวลไป เรามีเคล็ดลับดี ๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับการอาบน้ำให้ลูกสุนัขทุกขั้นตอนมาฝากกัน

 

  1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับลักษณะขนของน้องหมา

ก่อนที่จะเริ่มอาบน้ำ ควรเลือกแชมพูและครีมนวดที่เหมาะกับลักษณะขน โดยอาจขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าตัวน้อยของคุณ สำหรับน้องหมาขนสั้น ควรใช้น้ำมันบำรุงขนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ในขณะที่น้องหมาขนยาวนั้น ควรใช้ครีมนวดเพื่อให้เส้นขนแข็งแรง ดูสวยน่าสัมผัส

 

  1.  ทำให้บรรยากาศในการอาบน้ำน่าประทับใจ

สามารถอาบน้ำให้ลูกสุนัขได้เมื่อมีอายุ 8 สัปดาห์ การอาบน้ำตั้งแต่เด็กจะช่วยให้พวกเค้าคุ้นเคยและทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตร ในการอาบน้ำครั้งแรกไม่ควรมีการบังคับ แต่ควรค่อย ๆ แนะนำให้พวกเค้ารู้สึกคุ้นเคยและแสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรต้องกลัว ปล่อยให้ลูกสุนัขเดินเล่นอย่างอิสระและทำความคุ้นเคยกับการอยู่ในอ่าง จากนั้นจึงค่อยใช้แปรงหวีขนให้พวกเค้า อย่าลืมให้ขนม ลูบตัว และกอดพวกเค้าบ่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย

 

  1. แปรงขนของลูกสุนัขอย่างเบามือ

ก่อนการอาบน้ำและตัดแต่งขน ให้แปรงหรือหวีขนเบา ๆ เพื่อขจัดสิ่งสกปรกบริเวณเส้นขนและผิวหนังออกไป การทำเช่นนี้จะช่วยขจัดปมหรือขนที่พันกันได้อีกด้วย

 

  1. อาบน้ำลูกสุนัขด้วยน้ำอุ่น

เตรียมน้ำที่อุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป เนื่องจากลูกสุนัขมีผิวที่บอบบาง จึงไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งที่มาสัมผัสตัวมาก 

ก่อนที่จะเริ่มอาบน้ำให้พวกเค้า ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีใครในบ้านใช้น้ำในขณะที่คุณอาบน้ำให้ลูกสุนัข การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหันอาจเป็นอันตรายต่อลูกสุนัข จึงควรระมัดระวังเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

 

  1. ทำความสะอาดอย่างเบามือด้วยน้ำอุ่นและผ้าขนหนู (สำหรับลูกสุนัขอายุ 3 - 4 เดือน)

สำหรับลูกสุนัขที่อายุน้อยกว่า 3 – 4 เดือน ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นในการทำความสะอาดตัว และงดใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง อุณหภูมิร่างกายของน้องหมาแตกต่างจากคนเรา น้ำที่ใช้จึงต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม น้ำที่ร้อนจนเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อน้องหมาได้

 

  1. เริ่มอาบน้ำให้ลูกสุนัขกันได้เลย

สำหรับลูกสุนัขที่มีอายุมากกว่า 3 – 4 เดือน  คุณสามารถจับพวกเค้าอาบน้ำในอ่างอาบน้ำหรือจะใช้ฝักบัวแทนก็ได้ เมื่อถึงเวลาอาบน้ำ ลูกสุนัขอาจรับมือได้ค่อนข้างยาก หากคุณมีอ่างอาบน้ำหรือฝักบัวสำหรับอาบน้ำให้ลูกสุนัขโดยเฉพาะ ให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นแทนอุปกรณ์ตามปกติ เพราะจะช่วยให้จัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผิวของอ่างอาบน้ำไม่ลื่น เพื่อป้องกันการลื่นล้มและจมจนพวกเค้าเกิดอาการตื่นตระหนก

 

  1. เลือกแชมพูอาบน้ำที่เหมาะสม

เมื่อลูกสุนัขมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป จึงจะสามารถใช้แชมพูหรือครีมนวดได้

โดยควรเลือกแชมพูและครีมนวดสูตรสำหรับน้องหมาโดยเฉพาะ ควรเลือกที่มีค่า pH สมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อสุขภาพผิวหนังและเส้นขน อาจเลือกเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมีเจือปนก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้เลือกซื้อสินค้าเพราะมีราคาถูก เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจไม่สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ปลอดภัยกับลูกสุนัข

ควรผสมแชมพูกับน้ำในปริมาณที่เท่ากันเพื่อให้เจือจางลง ก่อนนำไปถูลงบนตัวของน้องหมา โดยระวังอย่าให้สัมผัสกับบริเวณที่บอบบาง เช่น ดวงตาและใบหู

 

  1. อาบน้ำให้ลูกสุนัขอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การอาบน้ำให้ลูกสุนัขก็เหมือนกับการอาบน้ำให้เด็กทารกตัวน้อย พวกเค้าอาจจะไม่ชินและรับมือได้ไม่ดีนักในช่วงแรก

หากกังวลว่าจะทำให้เจ้าตัวน้อยเจ็บตัว ให้ใช้ปลายนิ้วนวดแชมพูลงบนขนพวกเค้าเบา ๆ นอกจากจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองแล้ว ยังเหมือนเป็นการนวดตัวให้น้องหมาอีกด้วย รับรองเลยว่าถูกใจพวกเค้าอย่างแน่นอน!

ควรล้างน้ำซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าล้างคราบแชมพูออกหมดแล้ว สำหรับลูกสุนัขอายุน้อยควรใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด หรือผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อล้างสบู่ออกให้หมดและเพื่อป้องกันการระคายเคืองบนผิวหนัง หลังอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรรีบเช็ดตัวน้องหมาให้แห้ง

 

  1. เช็ดตัวให้แห้งทันทีหลังอาบน้ำเสร็จ

ค่อย ๆ ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตามตัวน้องหมาเพื่อขจัดน้ำส่วนเกินออกไป เมื่อมั่นใจว่าเช็ดตัวจนแห้งดีแล้วหรือไม่มีน้ำหยดจากตัวพวกเค้าแล้ว ให้ใครสักคนช่วยจับหรือนั่งคุกเข่าลงข้าง ๆ เพื่อให้น้องหมาจะรู้สึกปลอดภัย ก่อนเป่าขนให้แห้งด้วยไดร์เป่าผม ควรเลือกใช้เครื่องที่สามารถกระจายความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ลมร้อนต่ำหรือเย็นเท่านั้น

เพื่อให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับเสียงของไดร์เป่าผม ควรหลีกเลี่ยงการเป่าลมใส่หน้าหรือหูโดยตรง และพยายามทำให้ขนแห้งเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับน้องหมาขนยาว ในระหว่างเป่าขนควรหยุดแปรงขนบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ขนพันกัน

 

  1. อาบน้ำเป็นประจำเพื่อสุขภาพผิวหนังที่ดี

สุขภาพของน้องหมาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการอาบน้ำเป็นประจำจะช่วยให้น้องหมามีความสุขและมีสุขภาพดี โดยแนะนำให้เจ้าของอาบน้ำให้น้องหมาเดือนละครั้ง เนื่องจากบริเวณผิวหนังและเส้นขนมักจะมีสิ่งสกปรกจากปัจจัยแวดล้อมและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน 

สำหรับลูกสุนัขควรใช้น้ำอุ่นในการอาบน้ำ และใช้น้ำสบู่อ่อน ๆ นวดลงบนตัวเบา ๆ อย่าลืมแปรงขนเป็นประจำ เพื่อให้ขนนุ่มและเงางาม ทั้งนี้ไม่แนะนำให้อาบน้ำให้ลุกสุนัขบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ผิวแห้ง

ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้น้องหมาของคุณมีความสุขและแข็งแรง การอาบน้ำเป็นประจำจะทำให้เจ้าตัวน้อยดูดีและรู้สึกสบายตัวอยู่เสมอ อาจต้องใช้เวลาสักพักในการทำความคุ้นเคย แต่การอาบน้ำจะเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานหากทำอย่างถูกวิธี

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการอาบน้ำให้ลูกสุนัข

  1. เราสามารถใช้ไดร์เป่าผมกับลูกสุนัขได้หรือไม่?
  2. คุณสามารถใช้ไดร์เป่าผมกับลูกสุนัขได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยพยายามถือไดร์เป่าผมให้ห่างจากน้องหมาอย่างน้อย 2 - 3 นิ้ว หลีกเลี่ยงการเป่าใส่หน้าหรือหูโดยตรง และอย่าจ่อไดร์เป่าผมที่ตัวนาน ๆ เพื่อไม่ให้น้องหมารู้สึกร้อนจนเกินไป

  3. เราสามารถใช้กระดาษเปียกทำความสะอาดตัวน้องหมาได้หรือไม่?
  4. แนะนำให้เลือกทกระดาษเปียกสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นสูตรที่มีความอ่อนโยน เหมาะสำหรับผิวบอบบางของลูกสุนัข โดยสามารถใช้ทำความสะอาดใบหน้า ลำตัว และบริเวณก้นได้ สิ่งสำคัญคือเลือกสูตรที่ปราศจากสารเคมีรุนแรง น้ำหอม และแอลกอฮอล์

  5. ลูกสุนัขอาบน้ำครั้งแรกได้เมื่อไหร่?
  6. ทางที่ดีควรรอจนกว่าลูกสุนัขจะมีอายุอย่างน้อย 8 สัปดาห์ จนกว่าจะถึงเวลานั้น ให้เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ แทนการอาบน้ำ เพื่อขจัดสิ่งสกปรกหรือฝุ่นละอองตามตัวออกไป

  7. การอาบน้ำให้ลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ปลอดภัยหรือไม่?
  8. คุณสามารถอาบน้ำให้ลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ได้ แต่ควรใช้น้ำอุ่นและแชมพูสูตรอ่อนโยนเท่านั้น อย่าลืมล้างตัวพวกเค้าให้สะอาดและเช็ดตัวให้แห้งทันที เนื่องจากลูกสุนัขยังควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ไม่ดี จึงรู้สึกหนาวได้ง่ายมาก 

  • ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    adp_description_block174
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

    • แบ่งปัน

    ยินดีด้วย! หากคุณเพิ่งได้รับลูกสุนัขตัวใหม่ เรารู้ดีว่าการพาลูกสุนัขเข้าบ้านครั้งแรกเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกและตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงเจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็มักจะมาพร้อมความท้าทายและความรับผิดชอบใหม่ ๆ ซึ่งหน้าที่แรกของพ่อแม่มือใหม่คือการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้อยู่ในบ้านหลังใหม่อย่างมีความสุข
     

    โดยควรเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นหลังรับลูกสุนัขเข้าบ้านแล้ว ทั้งนี้พ่อแม่มือใหม่บางคนอาจรู้สึกกังวลเมื่อต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัย เราจึงรวบรวมรายชื่อสิ่งของที่จำเป็น พร้อมด้วยเคล็ดลับดี ๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้การต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ของคุณง่ายยิ่งขึ้น
     

    วิธีอุ้มลูกสุนัขที่ถูกต้อง

    ความน่ารักน่ากอดของลูกสุนัขไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สิ่งนี้ทำให้ทุกคนอดรนทนไม่ไหว ต้องอุ้มพวกเค้าขึ้นมากอดมาคลอเคลียทุกครั้งที่พบเจอ อย่างไรก็ตาม ลูกสุนัขอยู่ในช่วงวัยกำลังพัฒนา หากอุ้มผิดวิธีอาจทำให้พวกเค้ารู้สึกไม่สบายตัวหรือถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ จึงขอแนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – วางมือข้างหนึ่งไว้ใต้สะโพกของลูกสุนัข ส่วนอีกมือหนึ่งให้วางไว้ใต้หน้าอก
    2. ขั้นตอนที่ 2 – ยกลูกสุนัขขึ้นด้วยแขนทั้งสองข้าง คุณสามารถใช้เทคนิคนี้กับสุนัขตัวเล็กได้ แต่สำหรับสุนัขตัวใหญ่ ให้โอบแขนทั้งสองข้างรอบขา จากนั้นดึงไปที่หน้าอกแล้วค่อยยกขึ้น

    รวมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับลูกสุนัข

    เช็กลิสต์สิ่งจำเป็นที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนพาเจ้าตัวน้อยกลับบ้าน มีดังนี้

    1. อาหารสุนัข – แนะนำให้เลือกสูตรอาหารสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ เนื่องจากพวกเค้าต้องการแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไขมัน และโปรตีนปริมาณมาก ซึ่งทำให้อาหารสำหรับลูกสุนัขมีปริมาณแคลอรีสูงกว่าสูตรอื่น ๆ ทั้งนี้โภชนาการมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกอาหารคุณภาพดี เหมาะกับขนาดและช่วงวัย อย่างอาหารสุนัขไอแอมส์™ ที่ผลิตจากวัตถุดิบเกรดพรีเมียม ย่อยง่าย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดี มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแม้ว่าจะกินในปริมาณน้อย
    2. ขนมสำหรับสุนัข – ขนมสำหรับสุนัขมักจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือขนมสูตรเฮลตี้ ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขัดฟัน และขนมสำหรับใช้ฝึก
    3. เตียงนอน – น้องหมาควรได้ทิ้งตัวลงบนที่นอนนุ่ม ๆ หลังออกไปผจญภัยหรือวิ่งเล่นกันมาทั้งวัน โดยเตียงนอนที่ดีต้องเหมาะกับขนาดตัวของน้องหมา อาจเตรียมหมอนหนุนหรือผ้าห่มเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้พวกเค้าเพิ่มเติมได้
    4. ชามอาหารและชามน้ำ – เป็นอีกหนึ่งไอเทมสำคัญสำหรับน้องหมาทุกตัว โดยแนะนำให้เลือกจากขนาดและวิธีการกินของลูกสุนัข ไม่ควรใช้ชามใบเดียวกันทั้งสำหรับให้อาหารและให้น้ำ อาจเลือกใช้เป็นชามสเตนเลส เนื่องจากแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และไม่ดูดซับกลิ่น
    5. กรงหรือกระเป๋าสำหรับสุนัข – ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเมื่อต้องพาน้องหมาออกนอกบ้านหรือเดินทางไกล ทั้งกรงและกระเป๋ามีให้เลือกหลากหลายแบบ แต่ควรเลือกให้เหมาะกับขนาดและสายพันธุ์ของน้องหมา หรือหากต้องการพาน้องหมาขึ้นเครื่องบิน ก็ควรเลือกรูปแบบที่ได้รับการรับรองจากสายการบินนั้น ๆ เพราะจะทำให้เดินทางได้ง่ายขึ้น
    6. เสื้อผ้า – ในช่วงที่มีอากาศเย็นหรืออากาศชื้น ควรใส่เสื้อผ้าที่แห้งและสะอาดให้กับน้องหมา เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและป้องกันไม่ให้เจ้าตัวน้อยของคุณเป็นหวัด ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าเนื้อผ้าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
    7. ปลอกคอและสายจูง – ขนาดของปลอกคอและสายจูงเป็นสิ่งสำคัญ น้องหมาต้องหายใจสะดวก ไม่อึดอัด และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเมื่อสวมใส่ ควรเลือกปลอกคอที่ปรับขนาดได้และถอดออกง่าย เมื่อใส่แล้วควรมีพื้นที่ว่างระหว่างปลอกคอประมาณสองนิ้วมือ ส่วนสายจูงควรเลือกที่ทำจากเชือกไนลอนยาว 6 ฟุตหรือประมาณ 1.8 เมตร และควรมีความกว้างประมาณ ½ - ¾ นิ้ว
    8. ของเล่น – เพื่อความสุขและความสนุกของเจ้าตัวน้อย ผู้เลี้ยงควรเตรียมของเล่นหลาย ๆ ชนิดติดบ้านเอาไว้ เช่น ของเล่นสำหรับกัดแทะ ตุ๊กตานุ่มนิ่มสำหรับกอดนอน และของเล่นสำหรับฝึกทักษะ ของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้พวกเค้ากระฉับกระเฉงและสดชื่น หลีกเลี่ยงการซื้อของเล่นขนาดเล็ก เพื่อป้องกันน้องหมากินหรือกลืนเข้าไปจนเกิดอันตราย
    9. ถุงเก็บมูลสัตว์ – เมื่อพาน้องหมาออกไปเดินเล่นในที่สาธารณะ เจ้าของควรเตรียมถุงเก็บมูลสัตว์เพื่อทำความสะอาดหลังน้องหมาขับถ่าย เพราะในหลายพื้นที่มีกฎและข้อกำหนดสำหรับเรื่องนี้ หากไม่ทำตามอาจถูกปรับและโดนตักเตือนได้
    10. อุปกรณ์สำหรับการกรูมมิ่ง – แชมพู แปรงและหวี กรรไกรตัดเล็บ ยาสีฟันและแปรงสีฟัน น้ำยาทำความสะอาดสำหรับสุนัข ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลเจ้าตัวน้อยของคุณ
    11. ป้ายชื่อ – อย่าลืมสั่งทำป้ายชื่อน่ารัก ๆ ห้อยกับปลอกคอของเจ้าตัวน้อยกันด้วย ป้ายชื่อควรระบุชื่อของลูกสุนัข หมายเลขโทรศัพท์ของคุณ หรือหมายเลขโทรศัพท์คลินิกสัตว์ที่คุณไปประจำ
    12. รั้วหรือประตูกั้น – สิ่งสุดท้ายที่ควรมีคือรั้วหรือประตูกั้น สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการรบกวนเมื่อคุณต้องการเวลาส่วนตัวหรือเมื่อมีเด็กเล่นในบ้านได้เป็นอย่างดี

    การเตรียมพร้อมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น

    ผู้เลี้ยงอาจต้องจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งของบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยคุณสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – จัดเตรียมพื้นที่ขับถ่ายให้พร้อมและเริ่มฝึกพวกเค้าให้ขับถ่ายเป็นที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากลูกสุนัขขับถ่ายในที่ที่ถูกต้อง ก็ควรให้ขนมเป็นรางวัล
    2. ขั้นตอนที่ 2 – วางกรงและเบาะนอนของลูกสุนัขไว้ในที่เฉพาะ เลือกพื้นที่ที่สงบและห่างจากความวุ่นวาย เพื่อให้พวกเค้าได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในช่วงวันแรก ๆ
    3. ขั้นตอนที่ 3 – ปล่อยให้เจ้าตัวน้อยได้สำรวจบ้านใหม่และทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน แต่ก่อนอื่นควรเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อย เก็บของมีคมหรือข้าวของอันตรายให้มิดชิด และอย่าปล่อยให้พื้นลื่น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
    4. ขั้นตอนที่ 4 – แนะนำทุกคนให้รู้จักกับลูกสุนัขตัวใหม่กันตั้งแต่วันแรก คุณอาจพบว่าลูกสุนัขจะตื่นเต้นมากและจะพยายามคลุกคลีกับทุกคนรอบตัว โดยสามารถชวนลูกสุนัขเล่นด้วยได้ แต่ต้องไม่บังคับหรือทำให้พวกเค้ารู้สึกเครียด หากพวกเค้าพยายามซ่อนตัว ก็ควรปล่อยให้ใช้เวลาตามลำพัง อาจลองให้ขนมหรือลูบตัวเบา ๆ เพื่อให้พวกเค้ารู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

    การเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ให้อยู่ร่วมกับเด็กเล็ก

    ควรให้โอกาสลูก ๆ ของคุณมีส่วนร่วมในการรับเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกผูกพันกับสมาชิกใหม่ของครอบครัวมากขึ้น เมื่อได้ลูกสุนัขกลับบ้านแล้ว คุณสามารถปล่อยให้พวกเค้าเล่นด้วยกันได้ แต่ควรจำกัดเวลาการเล่นให้อยู่ในช่วง 15 – 30 นาที สองครั้งหรือสามครั้งต่อวัน เนื่องจากลูกสุนัขอยู่ในวัยที่ต้องการเวลาพักผ่อนมาก นอกจากนี้ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ อยู่กับลูกสุนัข ควรมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
     

    การแนะนำลูกสุนัขตัวใหม่กับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น

    ลูกสุนัขส่วนใหญ่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นและยังคงไร้เดียงสา จึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องแนะนำให้พวกเค้ารู้จักกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการปะทะ เริ่มด้วยการพาลูกสุนัขไปหาสุนัขที่โตกว่า ปล่อยให้พวกเค้าใช้เวลาร่วมกัน ไม่ต้องกังวลหากพวกเค้าจะดมหรือเลียกันเพราะเป็นการทักทายกันตามปกติ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มกัดหรือเห่าใส่กัน ให้รีบเข้าไปแยกออก
     

    แม้ว่าการนำลูกสุนัขกลับบ้านจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน แต่อย่าลืมเตรียมสิ่งของที่จำเป็นทั้งหมดให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์ดูแลขน เตียงนอน และขนมแสนอร่อย นอกจากนี้คุณควรสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและมั่นคงเพื่อให้ลูกสุนัขเติบโตอย่างแข็งแรง