IAMS TH
cat article detail banner
cat article detail banner

adp_description_block439
เปิด 4 เคล็ดลับการให้อาหารลูกแมวตัวน้อย

  • แบ่งปัน

เมื่อพูดถึงการดูแลลูกแมวตัวน้อย สิ่งสำคัญที่ทาสแมวทุกคนต้องทำความเข้าใจคือการให้อาหารอย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการ ซึ่งในบทความนี้ เราก็มีคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับการให้อาหารลูกแมวมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดปริมาณอาหารให้เหมาะสม การปรับเปลี่ยนปริมาณตามช่วงเวลา และการประเมินความต้องการของลูกแมวในแต่ละช่วงวัย สำหรับทาสแมวมือโปรหรือมือใหม่ที่ต้องการให้เจ้าตัวน้อยสุขภาพดีมีความสุขในทุกวัน ลองทำตามเคล็ดลับการให้อาหารต่อไปนี้กันได้เลย

ตารางการให้อาหารตามความต้องการทางโภชนาการของลูกแมว

สิ่งสำคัญในการให้อาหารลูกแมวคือการกำหนดปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละช่วงวัย ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับทาสแมวหลาย ๆ คน เราจึงสร้างตารางการให้อาหารแนะนำมาเพื่อช่วยคุณโดยเฉพาะ โดยในตารางนี้จะบอกปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันตามน้ำหนักตัวของลูกแมว 

อายุ

อาหารและปริมาณที่แนะนำ

0 – 4 สัปดาห์ 

น้ำนมแม่

1 – 6 เดือน 

ให้อาหารสูตรสำหรับลูกแมว 4 – 5 ครั้งต่อวัน

6 – 12 เดือน 

ค่อย ๆ ลดจำนวนมื้ออาหารต่อวัน

12 เดือนขึ้นไป

ค่อย ๆ เปลี่ยนมาให้อาหารสูตรแมวโต โดยให้อาหารเปียกทั้งเช้าและเย็น ส่วนอาหารเม็ดและน้ำสะอาดต้องเข้าถึงได้ง่ายตลอดวัน

 

ปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกแมวจะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัว ทั้งนี้ตารางข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำทั่วไป ลูกแมวของคุณอาจมีความต้องการแตกต่างออกไป คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อประเมินความต้องการของพวกเค้าเพิ่มเติมได้

เคล็ดลับดี ๆ ในการให้อาหารลูกแมวตัวน้อย – เราควรให้อาหารลูกแมวบ่อยแค่ไหน?

ความต้องการทางโภชนาการของลูกแมวจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย และมีข้อควรคำนึงถึงเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

  1. ควรให้อาหารลูกแมวเป็นมื้อเล็ก ๆ 3 – 4 มื้อต่อวัน แทนการให้อาหารมื้อใหญ่ 1 – 2 มื้อ วิธีนี้จะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและลดปัญหาการหิวระหว่างวันได้ดี
  2. อาหารสำหรับลูกแมวควรมีโปรตีนและไขมันสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารเปียกเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเพราะมีโปรตีนและปริมาณน้ำมากกว่าอาหารเม็ด
  3. ลูกแมวที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนควรได้รับอาหารสูตรเฉพาะสำหรับเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโต หลังจากหกเดือนจึงค่อยเปลี่ยนมาให้อาหารสูตรแมวโตได้
  4. ในการเลือกอาหาร ควรระวังส่วนผสมที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือท้องไส้ปั่นป่วน เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่สารกันบูดและสารแต่งเติมต่าง ๆ

เปิด 4 เคล็ดลับในการให้อาหารลูกแมวที่เจ้าของทุกคนควรรู้

  1. เริ่มต้นด้วยจัดตารางการให้อาหารเป็นเวลาทุกวัน เช่น ให้อาหารลูกแมวในเวลาเดียวกันทุกเช้าและเย็น
  2. ค่อย ๆ ปรับตารางการให้อาหารเมื่อลูกแมวโตขึ้น หากยังอยู่ในช่วงวัยลูกแมว ควรให้อาหารมื้อย่อย 3 มื้อต่อวัน แต่เมื่อลูกแมวโตเต็มวัยแล้ว สามารถปรับให้เหลือเพียง 2 มื้อต่อวันได้
  3. สามารถปรับเปลี่ยนตารางการให้อาหารได้ตามความต้องการของลูกแมว เนื่องจากลูกแมวบางตัวอาจต้องการอาหารมากกว่าตัวอื่น ๆ และบางตัวอาจหิวบ่อยในบางช่วงเวลาของวัน
  4. คอยสังเกตน้ำหนักของลูกแมวและปรับตารางอาหารเมื่อจำเป็น หากลูกแมวดูซูบผอมหรือน้ำหนักลดลง พวกเค้าอาจต้องการปริมาณอาหารมากขึ้น ในทางกลับกัน หากลูกแมวของคุณดูอ้วนหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อาจต้องปรับปริมาณอาหารให้น้อยลง โดยคุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับเจ้าตัวน้อยเพิ่มเติมได้

การให้อาหารอย่างเหมาะสมมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมและพัฒนาการของลูกแมว โดยเคล็ดลับง่าย ๆ ในการให้อาหารลูกแมวคือการทำความเข้าใจความต้องการด้านโภชนาการของลูกแมวและเลือกสูตรอาหารที่เหมาะกับช่วงวัย เนื่องจากลูกแมวมีความต้องการแตกต่างจากน้องแมวโตเต็มวัย เจ้าของจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามต้องการ

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการให้อาหารลูกแมว

  1. วิธีที่ดีที่สุดในการให้อาหารลูกแมวคืออะไร?
  2. วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกอาหารคุณภาพดีและออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของลูกแมวโดยเฉพาะ ในหนึ่งวัน ควรให้อาหารลูกแมวประมาณ 4 – 6 ครั้งต่อวัน จนกว่าจะมีอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จึงสามารถเปลี่ยนเป็น 3 มื้อใหญ่ต่อวันได้

  3. ควรให้อาหารลูกแมวมากน้อยแค่ไหน?
  4. ในการกำหนดปริมาณอาหารให้ลูกแมวแต่ละครั้ง ควรให้อาหารเปียกหรืออาหารเม็ดประมาณ 3 – 4 ช้อนโต๊ะต่อน้ำหนักตัว 1 ปอนด์ และควรแบ่งออกเป็นมื้อเล็ก ๆ 2 – 3 มื้อต่อวัน โดยจำเป็นต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อกำหนดปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกแมวของคุณ

  5. ควรให้อาหารเม็ดหรืออาหารเปียกกับลูกแมว?
  6. คุณสามารถให้อาหารลูกแมวได้ทั้งแบบเปียกและแบบเม็ดรวมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและสมดุล โดยอาหารเปียกจะช่วยให้น้องแมวได้รับน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่วนอาหารเม็ดจะมีส่วนช่วยในการขัดฟัน ทั้งนี้คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

  7. ลูกแมวชอบกินอาหารกลางดึกหรือไม่?
  8. ลูกแมวบางตัวอาจกินอาหารตอนกลางดึก เจ้าของจึงควรจัดเตรียมอาหารและน้ำให้เข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะลูกแมวในช่วงวัยเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพวกเค้ามีพฤติกรรมการกินมากเกินไปหรือผิดปกติ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ในทันที

     

  9. ควรเทอาหารเม็ดทิ้งไว้ข้ามคืนหรือไม่?
  10. ไม่แนะนำให้เทอาหารเม็ดทิ้งไว้ข้ามคืน เนื่องจากลูกแมวมีกระเพาะขนาดเล็กและควรได้รับปริมาณอาหารที่เหมาะสม การเทอาหารเม็ดทิ้งไว้อาจทำให้พวกเค้ากินมากเกินไปและน้ำหนักขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้การเทอาหารทิ้งไว้ยังสามารถดึงดูดสัตว์รบกวนและอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรีย เจ้าของควรให้อาหารเป็นเวลาและแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ ตลอดวัน

  • Our Favorite Tips to Train a Kitten
    Our Favorite Tips to Train a Kitten
    adp_description_block420
    รวมเคล็ดลับฝึกลูกแมวให้เป็นเด็กดีและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

    • แบ่งปัน

    การรับลูกแมวตัวใหม่เข้าบ้านเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับเจ้าของทุกคน มีสิ่งสำคัญมากมายที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เจ้าตัวน้อยทั้งหลายเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย และหนึ่งในนั้นคือการฝึกลูกแมวอย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและทางพฤติกรรม โดยในช่วงวัยเจริญเติบโต สมองของลูกแมวเปรียบเสมือนฟองน้ำ พวกเค้าจะดูดซับข้อมูลและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักจากเจ้าของ มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะเติบโตเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ปรับตัวได้ดี มีความสุข และมีสุขภาพดี โดยคุณสามารถติดตามทุกเรื่องน่ารู้และเคล็ดลับการฝึกลูกแมวได้จากบทความนี้ 

     

    เคล็ดลับการฝึกลูกแมวให้ได้ผล

    สำหรับทาสแมวมือใหม่ ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝึกลูกแมวควรเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเป็นการส่งเสริมในเชิงบวก คุณสามารถสอนลูกแมวได้ทุกอย่างตั้งแต่คำสั่งพื้นฐานไปจนถึงการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพียงแต่ต้องใช้ความอดทนและการฝึกอย่างสม่ำเสมอ หรือจะลองใช้เคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้ด้วยก็ได้เช่นกัน

     

    1. ฝึกสอนคำสั่งที่สำคัญ

      การฝึกลูกแมวให้นั่งควรเป็นขั้นตอนแรกในการฝึก เริ่มด้วยการถือขนมไว้หน้าจมูกลูกแมว จากนั้นค่อย ๆ เลื่อนขึ้นไปเหนือหัว  เพื่อให้ลูกแมวเงยหน้าขึ้นมองตามขนม ซึ่งก้นของพวกเค้าจะค่อย ๆ ย่อลงกับพื้นตามธรรมชาติ ทันทีที่พวกเค้านั่งลง ให้พูดคำสั่งว่า 'นั่ง' แล้วค่อยยื่นขนมให้พวกเค้าเป็นลำดับต่อไป ทำขั้นตอนนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนกว่าพวกเค้าจะเข้าใจคำสั่ง
       

    2. จัดเตรียมพื้นที่ส่วนตัว

      การจัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและสะดวกสบายให้กับเจ้าตัวน้อยเป็นสิ่งสำคัญ คุณอาจจะเตรียมกล่องลังหรือกรงไว้ให้พวกเค้าภายในบ้าน สำหรับการฝึกให้อยู่ในกรง ให้วางผ้าห่มนุ่ม ๆ และของเล่นไว้ข้างใน จากนั้นปล่อยให้ลูกแมวสำรวจรอบ ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อพวกเค้าเข้าไปข้างในกรงก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชม คุณสามารถปิดประตูเป็นช่วงสั้น ๆ และค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการฝึกครั้งต่อ ๆ ไป
       

    3. เปิดโอกาสให้สำรวจโลกรอบ ๆ ตัว

      การเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการฝึกลูกแมว เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ลูกแมวรู้จักกับเพื่อน คนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน อาจจะพาเจ้าตัวน้อยเหล่านี้นั่งรถเล่นในระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้สัมผัสบรรยากาศรอบ ๆ ตัว ทั้งภาพ เสียง และกลิ่น ยิ่งได้สัมผัสกับผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากเท่าไร พวกเค้าก็จะยิ่งมีความมั่นใจและปรับตัวได้ดีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
       

    4. ช่วงเวลาเล่นสนุกสำคัญที่สุด

      การฝึกลูกแมวให้เล่นเป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ เริ่มต้นด้วยการแนะนำเจ้าลูกเหมียวให้รู้จักกับของเล่นชนิดต่าง ๆ และคอยสังเกตว่าของเล่นชิ้นไหนที่พวกเค้าสนใจมากที่สุด เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มสนุกแล้ว คุณอาจชวนพวกเค้าเล่นเกมสนุก ๆ เช่น คาบของ ตะครุบเหยื่อ และชักเย่อ
       

    5. ฝึกใช้กระบะทราย

      เจ้าของควรเริ่มฝึกให้พวกเค้าใช้กระบะทรายตั้งแต่ยังเด็ก โดยวางลูกแมวไว้ในกระบะทรายทุกครั้งหลังมื้ออาหารและหลังการงีบหลับ เมื่อพวกเค้าใช้กระบะทราย ก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชมเชย ทั้งนี้ควรวางกระบะทรายไว้ในมุมที่สงบและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำด้วย
       

    6. ปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม

      พฤติกรรมการกินอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าเหมียว จึงควรฝึกให้พวกเค้ามีพฤติกรรมที่เหมาะสม เริ่มต้นด้วยการสอนให้พวกเค้ากินอาหารจากชามและดัดนิสัยชอบขอของกิน นอกจากนี้ควรให้อาหารลูกแมวเป็นเวลาและกำหนดปริมาณตามคำแนะนำ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเค้าจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
       

    7. ฝึกให้จำชื่อตัวเอ

      เป็นการฝึกที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่น้อยเลย โดยคุณอาจเริ่มต้นด้วยการเรียกชื่อเจ้าตัวน้อยของคุณ จากนั้นให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อพวกเค้าตอบสนองต่อการเรียก โดยแนะนำให้ฝึกเรียกชื่อพวกเค้าบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
       

      การฝึกลูกแมวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอ เจ้าเหมียวอาจใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้คำสั่งหรือทักษะต่าง ๆ ทั้งนี้เจ้าของควรเลือกฝึกในเชิงบวกและต้องทำให้การฝึกเป็นเรื่องสนุก! อย่าลืมมอบความรัก พูดชมเชย และให้ขนมแสนอร่อยเป็นรางวัลตลอดการฝึกด้วย

Close modal