IAMS TH
Recognizing the Signs of Bloat in Your Dog
Recognizing the Signs of Bloat in Your Dog

adp_description_block106
อาการบ่งบอกและวิธีดูแลสุนัขท้องอืดหรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร

  • แบ่งปัน

อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้กับน้องหมาทุกตัว แต่อาจพบได้บ่อยในน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่มีหน้าอกลึกและแคบ ปัญหานี้ถือเป็นภาวะอันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้วิธีสังเกตและดูแลเมื่อน้องหมามีอาการท้องอืดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของไม่ควรมองข้าม

อาการท้องอืดคืออะไร?

อาการท้องอืดหรืออีกชื่อหนึ่งคือภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว เกิดจากการมีปริมาณลมหรือแก๊สสะสมมากกว่าปกติจนทำให้กระเพาะอาหารขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วและบิดหมุน ส่งผลให้ความดันภายในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น เกิดการกดทับของอวัยวะรอบข้าง ซึ่งทำให้ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติจนน้องหมาเกิดภาวะช็อกได้ และนอกจากลักษณะของอาการที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับอาการท้องอืดที่เจ้าของควรรู้ดังนี้: 

  • อาการท้องอืดจัดเป็นภาวะอันตรายต้องได้รับการดูแลรักษาโดยทันที
  • ภาวะท้องอืดอาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
  • สาเหตุของอาการท้องอืดยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน
  • แต่ละปีในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีน้องหมากว่า 36,000 ตัวมีอาการท้องอืด และ 30% ของน้องหมาที่มีอาการเสียชีวิต
  • อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้กับน้องหมาทุกช่วงวัย
  • น้องหมาบางสายพันธุ์มีโอกาสท้องอืดมากกว่าน้องหมาทั่วไป โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีหน้าอกลึกและแคบ
  • การที่กระเพาะอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณช่องท้องลดลง

 ลักษณะของอาการท้องอืด

ในระยะแรกของอาการ น้องหมาจะรู้สึกอึดอัดมาก อาจจะเดินวนไปมาและส่งเสียงร้อง หรือพยายามขยับไปมาเพื่อหาท่าทางที่สบายตัว พวกเค้าอาจมีท่าทีกังวล เลียหรือจ้องไปที่ท้องของตัวเอง รวมถึงอาจมีอาการคล้ายอาเจียน แต่ไม่มีอะไรออกมา

 

นอกจากนี้อาจพบอาการอื่น ๆ เพิ่มด้วยได้ เช่น อ่อนแรง ท้องพองขยายตัว และอาจเกิดภาวะช็อก ซึ่งส่งผลให้น้องหมาหัวใจเต้นเร็วและมีอาการหอบ;
 

หากพบว่าน้องหมามีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบสัตวแพทย์ในทันที!

  • หอนหรือส่งเสียงร้องครวญคราง
  • มีท่าทางไม่สบายตัว ดูอึดอัด
  • กระสับกระส่าย
  • เหงือกซีด
  • พยายามอาเจียนแต่ไม่มีอะไรออกมา
  • หอบหรือหายใจเร็ว
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • วิตกกังวล
  • อ่อนแรง
  • ท้องบวม (โดยเฉพาะด้านซ้าย)
     

 อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้เมื่อน้องหมาท้องอืด มีดังนี้:
 

กระเพาะอาหารขยายใหญ่ขึ้น:

เนื่องจากมีลมหรือแก๊สสะสมในท้อง


น้ำลายไหลมาก:

ปัญหาในระบบทางเดินอาหารอาจทำให้น้องหมาน้ำลายไหลมากกว่าปกติ
 

พฤติกรรมกระสับกระส่าย:

อาการกระสับกระส่ายเป็นสัญญาณที่พบได้ทั่วไปเมื่อน้องหมาท้องอืด และพวกเค้าอาจส่งเสียงร้องเมื่อโดนกดที่บริเวณท้อง
 

หอบ หายใจสั้น:

การขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้น้องหมาหายใจลำบาก
 

หัวใจเต้นเร็วขึ้น:

เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมถูกกดไม่สามารถขยายตัวได้ ส่งผลให้เกิดภาวะหายใจลำบากและหัวใจมีอัตราการเต้นเร็วกว่าปกติ

 

สาเหตุของอาการท้องอืด

แม้ว่าจะหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็มีส่วนที่ทำให้น้องหมามีอาการท้องอืด:

  • กินอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว แทนการแบ่งมื้ออาหารเป็น 2 – 3 ครั้งต่อวัน
  • กินมากเกินไปและดื่มน้ำเร็วเกินไป
  • อยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น ต้องอยู่ในกรงหรือต้องไปพบสัตวแพทย์
  • วิ่งเล่นทันทีหลังกินอาหาร

 

วิธีป้องกันอาการท้องอืด

การทำตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันอาการท้องอืดในสุนัขได้ แต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย ซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าคำแนะนำจะเกิดผลจริงกับน้องหมาทุกตัว 

  • ให้กินอาหารทีละน้อย ๆ อาจแบ่งให้อาหารเป็น 2 – 3 มื้อต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเป็นเวลา  1 – 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร
  • อย่าให้น้องหมาดื่มน้ำปริมาณมากก่อนหรือหลังกินอาหารและหลังออกกำลังกาย
  • หากที่บ้านมีน้องหมา 2 ตัวขึ้นไป ควรแยกให้อาหาร เพื่อป้องกันพฤติกรรมกินเร็วและภาวะเครียด
  • หากเป็นไปได้ ควรกำหนดเวลาให้อาหารในช่วงเวลาที่คุณว่างและสามารถสังเกตพฤติกรรมหลังการกินของพวกเค้าได้
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหัน
  • หากพบว่าน้องหมามีอาการท้องอืด ควรรีบไปพบสัตวแพทย์ทันที


การดูแลรักษาอาการท้องอืด 
 

อาการท้องอืดสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่?

อาการท้องอืดในสุนัขจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทันที ในกรณีที่น้องหมาท้องอืดไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการกระเพาะบิด อาจได้รับการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา แต่หากตรวจพบว่ามีอาการท้องบวม กระเพาะขยายและบิดตัว บางกรณีก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

 

ตัวเลือกในการรักษาอาการท้องอืด

การระบายลมหรือแก๊สออกมาโดยใช้วิธีสอดท่อเข้าไปในกระเพาะอาหาร จะช่วยบรรเทาแรงกดต่ออวัยวะโดยรอบและป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารเสื่อมสภาพ แต่ในบางกรณีก็ไม่สามารถใช้วิธีสอดท่อได้เพียงเดียว อาจมีต้องการผ่าตัดร่วมด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยให้ของเหลวที่เสริมด้วยอิเล็กโทรไลต์ทางเส้นเลือดเพื่อปรับการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะที่สำคัญได้ตามปกติ ในหลายกรณีจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ และยาที่มีฤทธิ์ในการรักษาภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลงอีกด้วย

 

เมื่อน้องหมาอยู่ในอาการคงที่พร้อมผ่าตัดแล้ว สัตวแพทย์จะทำการผ่าตัดที่เรียกว่า “Gastropexy” เพื่อทำให้กระเพาะอาหารกลับสู่ตำแหน่งปกติพร้อมเอาเนื้อเยื่อผนังกระเพาะอาหารที่ตายแล้วออกไป รวมถึงจะยึดผนังกระเพาะเข้ากับผนังของลำตัว ทำให้โอกาสที่กระเพาะอาหารจะบิดหมุนลดลง และช่วยป้องกันอาการท้องอืดได้ดีขึ้น

 

เลือกให้อาหารที่ย่อยง่าย

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันอาการท้องอืดได้คือการเลือกอาหารสุนัขคุณภาพดี มีส่วนประกอบของไฟเบอร์ ช่วยให้ย่อยง่าย 
 

การดูแลเรื่องอาหารถือเป็นวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาที่ดีสุด อย่างน้อยก็จนกว่าจะสามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืดได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ผลเต็ม 100% แต่ก็ช่วยลดจำนวนน้องหมาที่ต้องเผชิญกับภาวะร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตนี้ลงได้

 

สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องอืด

  • เยอรมัน เชพเพิร์ด
  • บูวีเย เด ฟล็องเดรอะ
  • เกรทเดน
  • บ็อกเซอร์
  • เซนต์เบอร์นาร์ด
  • โดเบอร์แมน
  • เยอรมัน ชอร์ตแฮร์ พอยน์เตอร์
  • ไอริช เซทเทอร์
  • กอร์ดอน เซทเทอร์
  • บอร์ซอย
  • ไอริช วูล์ฟฮาวด์
  • ดัชชุน
  • ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
  • บาสเซ็ต ฮาวด์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการท้องอืดในสุนัข

  1. จะดูแลน้องหมาท้องอืดได้อย่างไรบ้าง?
  2. การรักษาน้องหมาท้องอืดทำได้โดยการให้ของเหลวที่มีอิเล็กโทรไลต์ผ่านทางเส้นเลือดและการให้ยาแก้ปวด วิธีนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและลดการเกิดภาวะช็อก อีกทั้งยังอาจป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อสำคัญตายเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ

     

  3. ทำไมน้องหมาถึงท้องใหญ่ขึ้นเมื่อมีอาการท้องอืด?
  4. ท้องของน้องหมาอาจบวมและใหญ่ขึ้นเนื่องจากมีแก๊สสะสมอยู่มาก ซึ่งการสะสมที่มากเกินไปนี้ทำให้กระเพาะอาหารขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับอวัยวะรอบข้าง รวมถึงไปขัดขวางการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดและระบบย่อยอาหาร

     

  5. อาการท้องอืดสามารถหายเองได้มั้ย?
  6. หากเป็นอาการท้องอืดท้องเฟ้อแบบไม่รุนแรง อาการอาจดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็ถือว่ายังมีโอกาสเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของอาการ

     

  7. สัญญาณเตือนเริ่มแรกของอาการท้องอืดมีอะไรบ้าง?
  8. อาการท้องอืดมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีการเตือนใด ๆ น้องหมาอาจเดินวนไปมา หอบ น้ำลายไหล หรือพยายามอาเจียนโดยที่ไม่มีอะไรออกมา อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้อีก ได้แก่ วิตกกังวล มีท่าทีอึดอัด และไม่สบายท้อง ในกรณีที่มีอาการรุนแรง น้องหมาอาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว และเหงือกสีซีด

     

     

  9. อาการท้องอืดในแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นนานแค่ไหน?
  10. อาการท้องอืดในสุนัขมักจะเกิดขึ้นไม่เกิน 24 ชั่วโมงหากได้รับการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงควรระมัดระวังเลือกการกำหนดปริมาณอาหารและการออกกำลังกายหลังการกินให้มากขึ้นด้วย

     

  • ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
    adp_description_block282
    ก่อนเปิดบ้านต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

    • แบ่งปัน

    ยินดีด้วย! หากคุณเพิ่งได้รับลูกสุนัขตัวใหม่ เรารู้ดีว่าการพาลูกสุนัขเข้าบ้านครั้งแรกเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกและตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงเจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็มักจะมาพร้อมความท้าทายและความรับผิดชอบใหม่ ๆ ซึ่งหน้าที่แรกของพ่อแม่มือใหม่คือการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้อยู่ในบ้านหลังใหม่อย่างมีความสุข
     

    โดยควรเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นหลังรับลูกสุนัขเข้าบ้านแล้ว ทั้งนี้พ่อแม่มือใหม่บางคนอาจรู้สึกกังวลเมื่อต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัย เราจึงรวบรวมรายชื่อสิ่งของที่จำเป็น พร้อมด้วยเคล็ดลับดี ๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้การต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ของคุณง่ายยิ่งขึ้น
     

    วิธีอุ้มลูกสุนัขที่ถูกต้อง

    ความน่ารักน่ากอดของลูกสุนัขไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สิ่งนี้ทำให้ทุกคนอดรนทนไม่ไหว ต้องอุ้มพวกเค้าขึ้นมากอดมาคลอเคลียทุกครั้งที่พบเจอ อย่างไรก็ตาม ลูกสุนัขอยู่ในช่วงวัยกำลังพัฒนา หากอุ้มผิดวิธีอาจทำให้พวกเค้ารู้สึกไม่สบายตัวหรือถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ จึงขอแนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – วางมือข้างหนึ่งไว้ใต้สะโพกของลูกสุนัข ส่วนอีกมือหนึ่งให้วางไว้ใต้หน้าอก
    2. ขั้นตอนที่ 2 – ยกลูกสุนัขขึ้นด้วยแขนทั้งสองข้าง คุณสามารถใช้เทคนิคนี้กับสุนัขตัวเล็กได้ แต่สำหรับสุนัขตัวใหญ่ ให้โอบแขนทั้งสองข้างรอบขา จากนั้นดึงไปที่หน้าอกแล้วค่อยยกขึ้น

    รวมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับลูกสุนัข

    เช็กลิสต์สิ่งจำเป็นที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนพาเจ้าตัวน้อยกลับบ้าน มีดังนี้

    1. อาหารสุนัข – แนะนำให้เลือกสูตรอาหารสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ เนื่องจากพวกเค้าต้องการแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไขมัน และโปรตีนปริมาณมาก ซึ่งทำให้อาหารสำหรับลูกสุนัขมีปริมาณแคลอรีสูงกว่าสูตรอื่น ๆ ทั้งนี้โภชนาการมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกอาหารคุณภาพดี เหมาะกับขนาดและช่วงวัย อย่างอาหารสุนัขไอแอมส์™ ที่ผลิตจากวัตถุดิบเกรดพรีเมียม ย่อยง่าย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดี มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแม้ว่าจะกินในปริมาณน้อย
    2. ขนมสำหรับสุนัข – ขนมสำหรับสุนัขมักจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือขนมสูตรเฮลตี้ ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขัดฟัน และขนมสำหรับใช้ฝึก
    3. เตียงนอน – น้องหมาควรได้ทิ้งตัวลงบนที่นอนนุ่ม ๆ หลังออกไปผจญภัยหรือวิ่งเล่นกันมาทั้งวัน โดยเตียงนอนที่ดีต้องเหมาะกับขนาดตัวของน้องหมา อาจเตรียมหมอนหนุนหรือผ้าห่มเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้พวกเค้าเพิ่มเติมได้
    4. ชามอาหารและชามน้ำ – เป็นอีกหนึ่งไอเทมสำคัญสำหรับน้องหมาทุกตัว โดยแนะนำให้เลือกจากขนาดและวิธีการกินของลูกสุนัข ไม่ควรใช้ชามใบเดียวกันทั้งสำหรับให้อาหารและให้น้ำ อาจเลือกใช้เป็นชามสเตนเลส เนื่องจากแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และไม่ดูดซับกลิ่น
    5. กรงหรือกระเป๋าสำหรับสุนัข – ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเมื่อต้องพาน้องหมาออกนอกบ้านหรือเดินทางไกล ทั้งกรงและกระเป๋ามีให้เลือกหลากหลายแบบ แต่ควรเลือกให้เหมาะกับขนาดและสายพันธุ์ของน้องหมา หรือหากต้องการพาน้องหมาขึ้นเครื่องบิน ก็ควรเลือกรูปแบบที่ได้รับการรับรองจากสายการบินนั้น ๆ เพราะจะทำให้เดินทางได้ง่ายขึ้น
    6. เสื้อผ้า – ในช่วงที่มีอากาศเย็นหรืออากาศชื้น ควรใส่เสื้อผ้าที่แห้งและสะอาดให้กับน้องหมา เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและป้องกันไม่ให้เจ้าตัวน้อยของคุณเป็นหวัด ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าเนื้อผ้าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
    7. ปลอกคอและสายจูง – ขนาดของปลอกคอและสายจูงเป็นสิ่งสำคัญ น้องหมาต้องหายใจสะดวก ไม่อึดอัด และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเมื่อสวมใส่ ควรเลือกปลอกคอที่ปรับขนาดได้และถอดออกง่าย เมื่อใส่แล้วควรมีพื้นที่ว่างระหว่างปลอกคอประมาณสองนิ้วมือ ส่วนสายจูงควรเลือกที่ทำจากเชือกไนลอนยาว 6 ฟุตหรือประมาณ 1.8 เมตร และควรมีความกว้างประมาณ ½ - ¾ นิ้ว
    8. ของเล่น – เพื่อความสุขและความสนุกของเจ้าตัวน้อย ผู้เลี้ยงควรเตรียมของเล่นหลาย ๆ ชนิดติดบ้านเอาไว้ เช่น ของเล่นสำหรับกัดแทะ ตุ๊กตานุ่มนิ่มสำหรับกอดนอน และของเล่นสำหรับฝึกทักษะ ของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้พวกเค้ากระฉับกระเฉงและสดชื่น หลีกเลี่ยงการซื้อของเล่นขนาดเล็ก เพื่อป้องกันน้องหมากินหรือกลืนเข้าไปจนเกิดอันตราย
    9. ถุงเก็บมูลสัตว์ – เมื่อพาน้องหมาออกไปเดินเล่นในที่สาธารณะ เจ้าของควรเตรียมถุงเก็บมูลสัตว์เพื่อทำความสะอาดหลังน้องหมาขับถ่าย เพราะในหลายพื้นที่มีกฎและข้อกำหนดสำหรับเรื่องนี้ หากไม่ทำตามอาจถูกปรับและโดนตักเตือนได้
    10. อุปกรณ์สำหรับการกรูมมิ่ง – แชมพู แปรงและหวี กรรไกรตัดเล็บ ยาสีฟันและแปรงสีฟัน น้ำยาทำความสะอาดสำหรับสุนัข ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลเจ้าตัวน้อยของคุณ
    11. ป้ายชื่อ – อย่าลืมสั่งทำป้ายชื่อน่ารัก ๆ ห้อยกับปลอกคอของเจ้าตัวน้อยกันด้วย ป้ายชื่อควรระบุชื่อของลูกสุนัข หมายเลขโทรศัพท์ของคุณ หรือหมายเลขโทรศัพท์คลินิกสัตว์ที่คุณไปประจำ
    12. รั้วหรือประตูกั้น – สิ่งสุดท้ายที่ควรมีคือรั้วหรือประตูกั้น สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการรบกวนเมื่อคุณต้องการเวลาส่วนตัวหรือเมื่อมีเด็กเล่นในบ้านได้เป็นอย่างดี

    การเตรียมพร้อมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น

    ผู้เลี้ยงอาจต้องจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งของบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ลูกสุนัขปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยคุณสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้

    1. ขั้นตอนที่ 1 – จัดเตรียมพื้นที่ขับถ่ายให้พร้อมและเริ่มฝึกพวกเค้าให้ขับถ่ายเป็นที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากลูกสุนัขขับถ่ายในที่ที่ถูกต้อง ก็ควรให้ขนมเป็นรางวัล
    2. ขั้นตอนที่ 2 – วางกรงและเบาะนอนของลูกสุนัขไว้ในที่เฉพาะ เลือกพื้นที่ที่สงบและห่างจากความวุ่นวาย เพื่อให้พวกเค้าได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในช่วงวันแรก ๆ
    3. ขั้นตอนที่ 3 – ปล่อยให้เจ้าตัวน้อยได้สำรวจบ้านใหม่และทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน แต่ก่อนอื่นควรเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อย เก็บของมีคมหรือข้าวของอันตรายให้มิดชิด และอย่าปล่อยให้พื้นลื่น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
    4. ขั้นตอนที่ 4 – แนะนำทุกคนให้รู้จักกับลูกสุนัขตัวใหม่กันตั้งแต่วันแรก คุณอาจพบว่าลูกสุนัขจะตื่นเต้นมากและจะพยายามคลุกคลีกับทุกคนรอบตัว โดยสามารถชวนลูกสุนัขเล่นด้วยได้ แต่ต้องไม่บังคับหรือทำให้พวกเค้ารู้สึกเครียด หากพวกเค้าพยายามซ่อนตัว ก็ควรปล่อยให้ใช้เวลาตามลำพัง อาจลองให้ขนมหรือลูบตัวเบา ๆ เพื่อให้พวกเค้ารู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

    การเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ให้อยู่ร่วมกับเด็กเล็ก

    ควรให้โอกาสลูก ๆ ของคุณมีส่วนร่วมในการรับเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกผูกพันกับสมาชิกใหม่ของครอบครัวมากขึ้น เมื่อได้ลูกสุนัขกลับบ้านแล้ว คุณสามารถปล่อยให้พวกเค้าเล่นด้วยกันได้ แต่ควรจำกัดเวลาการเล่นให้อยู่ในช่วง 15 – 30 นาที สองครั้งหรือสามครั้งต่อวัน เนื่องจากลูกสุนัขอยู่ในวัยที่ต้องการเวลาพักผ่อนมาก นอกจากนี้ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ อยู่กับลูกสุนัข ควรมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
     

    การแนะนำลูกสุนัขตัวใหม่กับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น

    ลูกสุนัขส่วนใหญ่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นและยังคงไร้เดียงสา จึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องแนะนำให้พวกเค้ารู้จักกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการปะทะ เริ่มด้วยการพาลูกสุนัขไปหาสุนัขที่โตกว่า ปล่อยให้พวกเค้าใช้เวลาร่วมกัน ไม่ต้องกังวลหากพวกเค้าจะดมหรือเลียกันเพราะเป็นการทักทายกันตามปกติ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มกัดหรือเห่าใส่กัน ให้รีบเข้าไปแยกออก
     

    แม้ว่าการนำลูกสุนัขกลับบ้านจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน แต่อย่าลืมเตรียมสิ่งของที่จำเป็นทั้งหมดให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์ดูแลขน เตียงนอน และขนมแสนอร่อย นอกจากนี้คุณควรสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและมั่นคงเพื่อให้ลูกสุนัขเติบโตอย่างแข็งแรง