IAMS TH
puppy deworm
puppy deworm

adp_description_block167
วิธีการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

  • แบ่งปัน

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพของลูกสุนัขตัวน้อย การถ่ายพยาธิเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดหนอนพยาธิหรือปรสิตตัวร้ายที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ การทำความเข้าใจวิธีการถ่ายพยาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าตัวน้อย ไม่ว่าพวกเค้าจะเคยติดเชื้อหนอนพยาธิมาก่อน หรือเพียงแค่ต้องการป้องกันเอาไว้

 

แต่หนอนพยาธิคืออะไรกันแน่? และลูกสุนัขได้รับมันมาได้อย่างไร? หนอนพยาธิที่พบได้บ่อยในสุนัข ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด เจ้าปรสิตเหล่านี้มักจะปะปนอยู่ในดิน น้ำ หรืออาหารที่ปนเปื้อน โดยพวกมันอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา

 

โดยเราได้รวบรวมทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัขมาให้แล้ว ทั้งอาการที่ควรระวัง กระบวนการถ่ายพยาธิ และวิธีดูแลเจ้าตัวน้อยให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงหรือเพียงแค่ต้องการทบทวนความรู้ บทความนี้ช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

 

4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

การถ่ายพยาธิเป็นส่วนสำคัญในการรับเลี้ยงและการดูแลน้องหมา แต่วิธีการถ่ายพยาธิมีให้เลือกมากมาย จนอาจสร้างความสับสนให้กับผู้เลี้ยงหลาย ๆ คน เราจึงจะมาเผยข้อควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข ทั้งเรื่องความถี่ในการถ่ายพยาธิ วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และความสำคัญของการป้องกันพยาธิตัวร้าย เพื่อให้กระบวนการนี้ผ่านไปได้อย่างราบรื่นและเห็นผล เมื่อเข้าใจปัจจัยสำคัญทั้งหมดนี้แล้ว คุณก็จะมั่นใจได้ว่าเจ้าตัวน้อยจะมีความสุขและมีสุขภาพดีในทุกวัน

 

  1. ดูแลลูกสุนัขตัวน้อยให้แข็งแรงและมีความสุขด้วยการถ่ายพยาธิเป็นประจำ

การถ่ายพยาธิจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิและปรสิตตัวร้าย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกสุนัขได้ โดยพวกเค้าจำเป็นต้องได้รับการถ่ายพยาธิเป็นประจำ เนื่องจากมีขนาดตัวเล็กและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

เราควรถ่ายพยาธิลูกสุนัขทุก 2 สัปดาห์ไปจนถึงอายุ 3 เดือน จากนั้นต้องถ่ายพยาธิทุกเดือนจนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าหนอนพยาธิถูกกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การถ่ายพยาธิสุนัขที่ตั้งท้องก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากพวกเค้าสามารถส่งต่อพยาธิไปยังลูกสุนัขในท้องได้

นอกจากการถ่ายพยาธิเป็นประจำแล้ว การดูแลรักษาความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของหนอนพยาธิ อย่าลืมล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสหรือเล่นกับน้องหมา และทำความสะอาดพื้นที่ขับถ่ายทันทีที่น้องหมาทำธุระส่วนตัวเสร็จ

การถ่ายพยาธิเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพน้องหมา การถ่ายพยาธิตามกำหนดเวลาและการดูแลความสะอาดจะช่วยปกป้องเจ้าก้อนขนปุกปุยของคุณจากปรสิตตัวร้ายที่เป็นอันตรายได้อย่างแน่นอน

 

  1. หนอนพยาธิชนิดต่าง ๆ ที่พบได้ในลูกสุนัข

ลูกสุนัขสามารถติดเชื้อหนอนพยาธิได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด ซึ่งเจ้าปรสิตเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน น้ำหนักลด และภาวะโลหิตจาง 

แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ อย่างพยาธิตัวตืดจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กและมักจะปะปนอยู่ในอุจจาระ นอกจากนี้หนอนพยาธิบางชนิดก็อาศัยอยู่ในลำไส้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เจ้าของจึงจำเป็นต้องถ่ายพยาธิให้น้องหมาเป็นประจำ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว

 

  1. ทำความเข้าใจสัญญาณเตือนและอาการติดเชื้อพยาธิในลูกสุนัข

ลูกสุนัขที่ติดเชื้ออาจมีอาการผิดปกติหลายอย่าง แต่อาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในน้องหมาที่มีอายุน้อยและมีขนาดตัวเล็ก แต่อาการทั่วไปที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • ท้องเสียหรือถ่ายเหลว – อาจเกิดจากหนอนพยาธิไปรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร 
  • น้ำหนักตัวลด – หนอนพยาธิสามารถแย่งสารอาหารจากร่างกายของลูกสุนัข ทำให้พวกเค้าน้ำหนักตัวลดลงได้
  • ภาวะโลหิตจาง – พยาธิปากขอจะดูดเลือดของลูกสุนัขเป็นอาหาร ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง โดยน้องหมาอาจมีเหงือกสีซีดและมีอาการอ่อนเพลีย
  • อาเจียน – หนอนพยาธิอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ จนนำไปสู่การอาเจียนได้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง – เนื่องจากแย่งสารอาหาร ดูดเลือด และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย น้องหมาที่ติดเชื้อจึงมักมีอาการอ่อนเพลียและไม่ค่อยทำกิจกรรม

การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับลูกสุนัขที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ เนื่องจากพวกเค้าได้รับเชื้อจากแม่ตั้งแต่ก่อนคลอด การสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิดและการถ่ายพยาธิเป็นประจำ จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยของคุณมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุข ทั้งนี้หากสงสัยว่าลูกสุนัขติดเชื้อพยาธิ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักการรักษาในทันที

 

  1. วิธีการถ่ายพยาธิลูกสุนัขที่มีประสิทธิภาพ

หนอนพยาธิเป็นปัญหาที่พบบ่อยในลูกสุนัขและมักจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา โดยหนอนพยาธิที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิตัวตืด โดยน้องหมาที่ติดเชื้ออาจมีอาการอาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด และพุงป่อง

การถ่ายพยาธิไม่ใช่กระบวนการที่ซับซ้อนและสามารถทำได้ง่าย เพียงแต่ต้องทำเป็นประจำหรือตามนัดหมายของสัตวแพทย์ ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิลูกสุนัขทุก ๆ 2 - 3 สัปดาห์จนกว่าจะถึงวัยที่กำหนด การรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดและคอยดูแลไม่ให้ลูกสุนัขกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน

หากเจ้าตัวน้อยของคุณติดเชื้อ สัตวแพทย์อาจจ่ายยาถ่ายพยาธิให้กินหรือให้ฉีดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเจ้าของควรดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำจากคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและเห็นผล

แม้น้องหมาจะไม่มีอาการติดเชื้อใด ๆ แต่ก็ยังจำเป็นต้องถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในอนาคต

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถ่ายพยาธิลูกสุนัข

  1. จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมามีพยาธิ?
  2. หากต้องการรู้ว่าน้องหมาติดเชื้อพยาธิหรือไม่ ควรพาพวกเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายและใช้วิธีตรวจอุจจาระเพื่อหาพยาธิ โดยอาการติดเชื้อที่อาจพบได้ จะมีอาการท้องเสีย น้ำหนักลด และอาจสังเกตเห็นพยาธิในอุจจาระ

  3. เราสามารถถ่ายพยาธิน้องหมาเองที่บ้านได้หรือไม่?
  4. การถ่ายพยาธิควรทำโดยสัตวแพทย์ เนื่องจากคุณหมอสามารถวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยาถ่ายพยาธิบางชนิดอาจมีวิธีใช้เฉพาะหรืออาจไม่ปลอดภัยสำหรับลูกสุนัข ทางที่ดีจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนถ่ายพยาธิลูกสุนัขด้วยตัวเอง

  5. ควรถ่ายพยาธิให้น้องหมาบ่อยแค่ไหน?
  6. ลูกสุนัขควรถ่ายพยาธิเมื่อมีอายุ 2, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ และอีกครั้งเมื่อมีอายุ 12 และ 16 สัปดาห์ เมื่อลูกสุนัขอายุครบ 6 เดือน แนะนำให้ถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 - 6 เดือน คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อกำหนดตารางการถ่ายพยาธิที่เหมาะสม เนื่องจากลูกสุนัขแต่ละตัวมีเงื่อนไขและสภาพร่างกายแตกต่างกัน

  • เปิดเคล็ดลับการฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา
    เปิดเคล็ดลับการฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา
    adp_description_block292
    เปิดเคล็ดลับการฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา

    • แบ่งปัน

    การฝึกใช้สายจูงช่วยให้น้องหมาสำรวจโลกภายนอกได้อย่างปลอดภัย พวกเค้าจะมีประสบการณ์การเดินเล่นที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม น้องหมาไม่ได้เกิดมาพร้อมความสามารถในการเดินโดยใช้สายจูง พวกเค้าจำเป็นต้องได้รับการฝึกสอนทักษะนี้เพิ่มเติม
     

    หากคุณเลี้ยงน้องหมาพันธุ์ใหญ่ ควรฝึกการใช้สายจูงให้พวกเค้าตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเมื่อโตขึ้น น้ำหนักตัวของพวกเค้าก็จะเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้คุณควบคุมพวกเค้าได้ยาก คุณอาจโดนพวกเค้าลากไปมา หรือไม่น้องหมาของคุณก็อาจวิ่งเตลิดจนเกิดปัญหาวุ่นวายได้
     

    สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่สงสัยว่า ควรฝึกลูกสุนัขใช้สายจูงตั้งแต่อายุเท่าไหร่? คำตอบคือเริ่มฝึกได้ตั้งแต่อายุ 10 สัปดาห์ หรืออาจฝึกก่อนหน้านั้นก็ได้เช่นกัน การฝึกทักษะนี้จะช่วยให้ลูกสุนัขของคุณเติบโตเป็นเพื่อนที่น่ารักและเชื่อฟัง การเดินทางหรือผจญภัยไปด้วยกันก็จะง่ายขึ้น!
     

    มาติดตามเคล็ดลับและคำแนะนำดี ๆ ในการฝึกลูกสุนัขใช้สายจูงไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงมือใหม่หรือมือโปรก็สามารถทำตามได้

    • เลือกปลอกคอที่มีขนาดพอดี

    การเลือกปลอกคอเป็นขั้นตอนแรกในการทำให้น้องหมาคุ้นเคยกับสายจูง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลอกคอไม่แน่นหรือหลวมเกินไป เมื่อใช้นิ้วมือสอดลงไปควรมีช่องว่างระหว่างปลอกคออย่างน้อยสองนิ้ว เพื่อให้น้องหมาหายใจสะดวกและไม่รู้สึกอึดอัด

    ข้อควรรู้ – หากคุณวางแผนจะฝึกลูกสุนัขตั้งแต่อายุยังน้อย ควรดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และหมั่นตรวจสอบความพอดีของปลอกคอ เนื่องจากเจ้าตัวน้อยของคุณยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต

    • ทำความคุ้นเคยกับสายจูง

    ลูกสุนัขอาจใช้เวลาสักพักในการปรับตัวและยอมรับอุปกรณ์ใหม่นี้ คุณสามารถช่วยให้พวกเค้าคุ้นเคยได้เร็วขึ้นด้วยเทคนิคง่าย ๆ โดยเริ่มจากปล่อยให้พวกเค้าดมกลิ่นและเล่นกับสายจูงก่อน อาจใส่ให้ทุกครั้งที่เล่นสนุกด้วยกันในบ้าน แต่ควรหลีกเลี่ยงการใส่สายจูงเมื่อน้องหมาอยู่ตามลำพัง ตอนเศร้าหรือหงุดหงิด

    • ให้รางวัลเมื่อการฝึกเป็นไปด้วยดี

    ในการฝึกเดินโดยใช้สายจูง แนะนำให้ถือขนมไว้ในมือ จากนั้นถอยหลังไปสองสามก้าว สิ่งนี้จะกระตุ้นให้น้องหมาเดินไปหาคุณเพื่อกินขนมแสนอร่อย แต่เพื่อป้องกันการกินขนมมากเกินไป อาจเปลี่ยนมาให้รางวัลเป็นของเล่น คำชมเชย หรือการลูบหัวลูบตัวแทน ทั้งนี้การให้รางวัลจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี และกระตุ้นให้ลูกสุนัขอยากฝึกในครั้งต่อ ๆ ไป

    เคล็ดลับน่ารู้ – กำหนดระยะเวลาในการฝึกให้เหมาะสม ไม่ควรฝึกเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพราะลูกสุนัขอาจจะเหนื่อยและหลีกเลี่ยงการฝึก

    • ฝึกเดินเล่นในบ้าน

    นอกจากจะสร้างความคุ้นเคยให้น้องหมาแล้ว ยังเป็นโอกาสให้คุณสังเกตท่าทีของน้องหมาเมื่อต้องเดินโดยใช้สายจูงอีกด้วย แนะนำให้เลือกพื้นที่โล่งกว้างในการฝึก พร้อมตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งกีดขวางใด หลังจากการฝึกก็ควรให้รางวัลเป็นขนมที่พวกเค้าโปรดปราน ขั้นตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะทำให้รู้ว่าลูกสุนัขของคุณพร้อมจะลงสนามจริงแล้วหรือไม่

    • เริ่มออกไปเดินเล่นนอกบ้าน

    การฝึกลูกสุนัขเต็มไปด้วยเรื่องที่ไม่คาดคิดและน่าประหลาดใจ หากคุณคิดว่าเจ้าตัวน้อยจะเดินเล่นนอกบ้านได้อย่างราบรื่นหลังฝึกเดินในบ้านมาแล้ว คุณคิดผิด! ความอยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยโดยธรรมชาติของลูกสุนัข และเมื่อได้ออกไปผจญภัย พวกเค้าก็มักจะพุ่งตัวไปสำรวจทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการเดินในระยะทางสั้น ๆ ก่อน
     

    เคล็ดลับน่ารู้ – ควรพกขนมติดตัวเมื่อออกไปเดินเล่น เพื่อใช้หลอกล่อให้น้องหมาเดินตามได้ง่ายขึ้น
     

    จำไว้ว่าความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ! น้องหมาอาจต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปลอกคอ การใส่สายจูง และการเดินโดยใช้สายจูง คุณต้องให้เวลาพวกเค้าปรับตัว อย่าเร่งรัดหรือบังคับ รวมถึงต้องทำให้การฝึกไม่น่าเบื่อและกำหนดระยะเวลาอย่างเหมาะสม หลังจากทำตามเคล็ดลับข้างต้น รับรองเลยว่าการเดินเล่นจะเป็นช่วงเวลาที่ดีและสนุกมากขึ้น