IAMS TH
Our Favorite Tips to Train a Kitten
Our Favorite Tips to Train a Kitten

adp_description_block273
รวมเคล็ดลับฝึกลูกแมวให้เป็นเด็กดีและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

  • แบ่งปัน

การรับลูกแมวตัวใหม่เข้าบ้านเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับเจ้าของทุกคน มีสิ่งสำคัญมากมายที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เจ้าตัวน้อยทั้งหลายเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย และหนึ่งในนั้นคือการฝึกลูกแมวอย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและทางพฤติกรรม โดยในช่วงวัยเจริญเติบโต สมองของลูกแมวเปรียบเสมือนฟองน้ำ พวกเค้าจะดูดซับข้อมูลและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักจากเจ้าของ มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะเติบโตเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ปรับตัวได้ดี มีความสุข และมีสุขภาพดี โดยคุณสามารถติดตามทุกเรื่องน่ารู้และเคล็ดลับการฝึกลูกแมวได้จากบทความนี้ 

 

เคล็ดลับการฝึกลูกแมวให้ได้ผล

สำหรับทาสแมวมือใหม่ ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝึกลูกแมวควรเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเป็นการส่งเสริมในเชิงบวก คุณสามารถสอนลูกแมวได้ทุกอย่างตั้งแต่คำสั่งพื้นฐานไปจนถึงการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพียงแต่ต้องใช้ความอดทนและการฝึกอย่างสม่ำเสมอ หรือจะลองใช้เคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้ด้วยก็ได้เช่นกัน

 

  1. ฝึกสอนคำสั่งที่สำคัญ

    การฝึกลูกแมวให้นั่งควรเป็นขั้นตอนแรกในการฝึก เริ่มด้วยการถือขนมไว้หน้าจมูกลูกแมว จากนั้นค่อย ๆ เลื่อนขึ้นไปเหนือหัว  เพื่อให้ลูกแมวเงยหน้าขึ้นมองตามขนม ซึ่งก้นของพวกเค้าจะค่อย ๆ ย่อลงกับพื้นตามธรรมชาติ ทันทีที่พวกเค้านั่งลง ให้พูดคำสั่งว่า 'นั่ง' แล้วค่อยยื่นขนมให้พวกเค้าเป็นลำดับต่อไป ทำขั้นตอนนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนกว่าพวกเค้าจะเข้าใจคำสั่ง
     

  2. จัดเตรียมพื้นที่ส่วนตัว

    การจัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและสะดวกสบายให้กับเจ้าตัวน้อยเป็นสิ่งสำคัญ คุณอาจจะเตรียมกล่องลังหรือกรงไว้ให้พวกเค้าภายในบ้าน สำหรับการฝึกให้อยู่ในกรง ให้วางผ้าห่มนุ่ม ๆ และของเล่นไว้ข้างใน จากนั้นปล่อยให้ลูกแมวสำรวจรอบ ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อพวกเค้าเข้าไปข้างในกรงก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชม คุณสามารถปิดประตูเป็นช่วงสั้น ๆ และค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการฝึกครั้งต่อ ๆ ไป
     

  3. เปิดโอกาสให้สำรวจโลกรอบ ๆ ตัว

    การเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการฝึกลูกแมว เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ลูกแมวรู้จักกับเพื่อน คนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน อาจจะพาเจ้าตัวน้อยเหล่านี้นั่งรถเล่นในระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้สัมผัสบรรยากาศรอบ ๆ ตัว ทั้งภาพ เสียง และกลิ่น ยิ่งได้สัมผัสกับผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากเท่าไร พวกเค้าก็จะยิ่งมีความมั่นใจและปรับตัวได้ดีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
     

  4. ช่วงเวลาเล่นสนุกสำคัญที่สุด

    การฝึกลูกแมวให้เล่นเป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ เริ่มต้นด้วยการแนะนำเจ้าลูกเหมียวให้รู้จักกับของเล่นชนิดต่าง ๆ และคอยสังเกตว่าของเล่นชิ้นไหนที่พวกเค้าสนใจมากที่สุด เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มสนุกแล้ว คุณอาจชวนพวกเค้าเล่นเกมสนุก ๆ เช่น คาบของ ตะครุบเหยื่อ และชักเย่อ
     

  5. ฝึกใช้กระบะทราย

    เจ้าของควรเริ่มฝึกให้พวกเค้าใช้กระบะทรายตั้งแต่ยังเด็ก โดยวางลูกแมวไว้ในกระบะทรายทุกครั้งหลังมื้ออาหารและหลังการงีบหลับ เมื่อพวกเค้าใช้กระบะทราย ก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชมเชย ทั้งนี้ควรวางกระบะทรายไว้ในมุมที่สงบและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำด้วย
     

  6. ปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม

    พฤติกรรมการกินอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าเหมียว จึงควรฝึกให้พวกเค้ามีพฤติกรรมที่เหมาะสม เริ่มต้นด้วยการสอนให้พวกเค้ากินอาหารจากชามและดัดนิสัยชอบขอของกิน นอกจากนี้ควรให้อาหารลูกแมวเป็นเวลาและกำหนดปริมาณตามคำแนะนำ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเค้าจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
     

  7. ฝึกให้จำชื่อตัวเอ

    เป็นการฝึกที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่น้อยเลย โดยคุณอาจเริ่มต้นด้วยการเรียกชื่อเจ้าตัวน้อยของคุณ จากนั้นให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อพวกเค้าตอบสนองต่อการเรียก โดยแนะนำให้ฝึกเรียกชื่อพวกเค้าบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
     

    การฝึกลูกแมวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอ เจ้าเหมียวอาจใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้คำสั่งหรือทักษะต่าง ๆ ทั้งนี้เจ้าของควรเลือกฝึกในเชิงบวกและต้องทำให้การฝึกเป็นเรื่องสนุก! อย่าลืมมอบความรัก พูดชมเชย และให้ขนมแสนอร่อยเป็นรางวัลตลอดการฝึกด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝึกลูกแมว

  1. ลูกแมวฝึกยากหรือไม่?  
  2. แม้ว่าเราควรฝึกทักษะและการเข้าสังคมให้เจ้าเหมียวตั้งแต่ยังเด็ก แต่ลูกแมวอาจติดนิสัยชอบเล่นและว่อกแว่กง่ายจนทำให้ฝึกยากกว่าแมวโต อีกทั้งสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงอาจไม่เข้าใจคำสั่งได้อย่างครบถ้วน แต่ด้วยความอดทนและความสม่ำเสมอ เจ้าตัวน้อยของคุณจะเรียนรู้คำสั่งและทักษะพื้นฐานได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้กระบะทรายหรือการตอบสนองเมื่อถูกเรียก

     

  3. ควรเริ่มฝึกลูกแมวตั้งแต่อายุเท่าไหร่?  
  4. ช่วงอายุที่ดีที่สุดในการเริ่มฝึกลูกแมวคือ 8 – 12 สัปดาห์ ในช่วงวัยนี้ ลูกแมวจะเปิดรับการเรียนรู้มากขึ้นและมีโอกาสน้อยที่จะติดนิสัยที่ไม่ดี สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนเริ่มการฝึก เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกแมวมีสุขภาพแข็งแรงและพร้อมสำหรับการฝึก

     

  5. เราสามารถสานสัมพันธ์กับลูกแมวด้วยวิธีใดได้บ้าง?
  6. เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกแมว คุณอาจใช้เวลาร่วมกับพวกเค้าให้มากขึ้น พยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกันเป็นประจำ เช่น การเล่น การดูแล และการกอด นอกจากนี้การจัดตารางกิจวัตรประจำวัน การฝึกเข้าสังคม การฝึกทักษะพื้นฐาน และการตรวจสุขภาพเป็นประจำก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกแมวของคุณเช่นกัน

     

  7. จะบอกลูกแมวว่า “ไม่” ได้อย่างไร?  
  8. ในการบอกปฏิเสธลูกแมวหรือพูดคำว่า "ไม่" ให้ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นแต่ต้องไม่รุนแรง จากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของพวกเค้าด้วยการฝึกอย่างสม่ำเสมอและส่งเสริมในเชิงบวก เพื่อให้ลูกแมวเข้าใจว่าพฤติกรรมไหนดีและแบบไหนที่ไม่ดี ทั้งนี้คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

     

  9. การฝึกลูกแมวใช้เวลานานแค่ไหน?  
  10. โดยทั่วไปจะใช้เวลาหลายเดือนในการฝึกลูกแมว ความสม่ำเสมอและความอดทนเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากลูกแมวมีสมาธิสั้นและอาจไม่เข้าใจคำสั่งทั้งหมดจนกว่าพวกเค้าจะมีอายุประมาณ 6 เดือน แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้ฝึกสอนมืออาชีพ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณใช้เทคนิคการฝึกที่ถูกต้องและเหมาะสม

     

  • vet approved tips image
    vet approved tips image
    adp_description_block89
    วิธีอาบน้ำลูกแมวตัวน้อย

    • แบ่งปัน

    การอาบน้ำเป็นหนึ่งในงานที่ยากมากสำหรับพ่อแม่แมว เพราะเจ้าเหมียวส่วนใหญ่ไม่ชอบน้ำและมักจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ แต่มันเป็นการดูแลที่สำคัญและไม่สามารถละเลยได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกแมวมีปัญหาสุขภาพผิวหนัง สำหรับทาสแมวมือใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอาบน้ำลูกแมวอย่างไร เรามีเคล็ดลับและเทคนิคดี ๆ มาฝากกัน ห้ามพลาดบทความนี้เลย!

     

    เคล็ดลับการอาบน้ำให้ลูกแมว
     

    ก่อนเริ่มอาบน้ำให้ลูกแมว คุณควรตัดเล็บพวกเค้าให้เรียบร้อย เพราะเจ้าเหมียวจะข่วนคุณอย่างไม่ลังเลหากรู้สึกไม่พอใจหรือไม่สบายตัว และคุณอาจทำตามเคล็ดลับเหล่านี้เพื่อให้การอาบน้ำเจ้าตัวน้อยง่ายขึ้น!

    1. แปรงขนก่อนอาบน้ำเสมอ

      ลูกแมวผลัดขนตลอดทั้งปี ขนของพวกเค้าอาจร่วงมากขณะอาบน้ำ และอาจอุดตันระบบระบายน้ำของคุณได้ ทางที่ดีจึงควรแปรงขนลูกแมวเพื่อกำจัดเส้นขนที่หลุดร่วงออกไปก่อน

    2. เลือกเวลาที่เหมาะสม

      แนะนำให้เลือกอาบน้ำหลังจากที่ลูกแมวทำกิจกรรมอย่างเต็มที่แล้ว เช่น หลังเวลาเล่นหรือออกกำลังกาย เมื่อลูกแมวเหนื่อยและหมดแรง พวกเค้าอาจจะปล่อยให้คุณอาบน้ำโดยไม่ขัดขืน

    3. ใช้แชมพูสูตรสำหรับแมวโดยเฉพาะ

      ควรเลือกแชมพูที่ถูกออกแบบมาเพื่อแมวโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการใช้แชมพูหรือสบู่ของคนในทุกกรณี เนื่องจากมันอาจตกค้างอยู่บนเส้นขน ทำให้แมวได้รับเข้าไปขณะเลียตัวทำความสะอาด

    4. ล้างน้ำให้สะอาด

      สิ่งสำคัญคือต้องล้างแชมพูออกจากขนลูกแมวให้หมด และควรระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าหู จมูก หรือตา ทั้งนี้เพื่อให้ลูกแมวรู้สึกสบายตัวมากที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นจัด แนะนำให้ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องแทน

    5. ให้ขนมแสนอร่อยเป็นรางวัล

      เมื่ออาบน้ำให้ลูกแมวเรียบร้อยแล้ว ควรให้ขนมเป็นรางวัลทันที การเล่นและขนมแสนอร่อยจะทำให้ช่วงเวลาอาบน้ำเป็นประสบการณ์ที่ดีของแมว นอกจากนี้ขนมยังมีประโยชน์ในการหันเหความสนใจได้ดีเมื่อลูกแมวเริ่มวิตกกังวล

     

    การเป่าขนแมวอย่างถูกวิธี

     

    หลังอาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดตัวและเป่าขนแมวให้แห้งทันที หากปล่อยให้ขนเปียกชื้นนาน ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้ แต่การใช้ผ้าขนหนูถูตัวแรง ๆ ก็อาจทำให้แมวรู้สึกไม่สบายและเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังได้เช่นกัน คุณจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยแนะนำให้ทำตามวิธีต่อไปนี้แทน
     

    1. ขั้นตอนที่ 1 – วางลูกแมวลงบนผ้าขนหนูที่แห้งและสะอาด

    2. ขั้นตอนที่ 2 – ห่อตัวลูกแมวด้วยผ้าขนหนู

    3. ขั้นตอนที่ 3 – จับแมวนั่งบนตัก ปล่อยให้แมวสงบอารมณ์ลงสักพัก

    4. ขั้นตอนที่ 4 – ใช้ผ้าขนหนูซับเบา ๆ ทั่วทั้งตัวแมว

    5. ขั้นตอนที่ 5 – ค่อย ๆ ซับไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งขนชื้นและไม่เปียกโชก

     

    ป้องกันปัญหาขณะอาบน้ำให้ลูกแมว
     

    แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบน้ำโดยธรรมชาติ เนื่องจากบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในทะเลทราย ซึ่งหมายความว่าพวกเค้าแทบจะไม่เคยเจอฝน ทะเลสาบ หรือแม่น้ำเลย ดังนั้นน้ำทุกประเภท ยกเว้นน้ำดื่ม จึงกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติกับลูกแมวอย่างอ่อนโยนจะช่วยลดปัญหาขณะอาบน้ำและสร้างประสบการณ์ที่ดีได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการจ่อฝักบัวที่ตัวลูกแมวตลอดเวลา และพยายามจำกัดเวลาอาบน้ำให้สั้นที่สุด
     

    ข้อควรระวัง – หากลูกแมวยังคงแสดงอาการกังวลหรือเครียดมาก ๆ ขณะอาบน้ำ แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์
     

    การอาบน้ำเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสานสัมพันธ์กับลูกแมวตัวน้อยของคุณ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกแมวคุ้นเคยกับการสัมผัส เสริมสร้างความไว้วางใจและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย

Close modal