IAMS TH
Our Favorite Tips to Train a Kitten
Our Favorite Tips to Train a Kitten

adp_description_block322
รวมเคล็ดลับฝึกลูกแมวให้เป็นเด็กดีและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

  • แบ่งปัน

การรับลูกแมวตัวใหม่เข้าบ้านเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับเจ้าของทุกคน มีสิ่งสำคัญมากมายที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เจ้าตัวน้อยทั้งหลายเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย และหนึ่งในนั้นคือการฝึกลูกแมวอย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและทางพฤติกรรม โดยในช่วงวัยเจริญเติบโต สมองของลูกแมวเปรียบเสมือนฟองน้ำ พวกเค้าจะดูดซับข้อมูลและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักจากเจ้าของ มั่นใจได้เลยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะเติบโตเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ปรับตัวได้ดี มีความสุข และมีสุขภาพดี โดยคุณสามารถติดตามทุกเรื่องน่ารู้และเคล็ดลับการฝึกลูกแมวได้จากบทความนี้ 

 

เคล็ดลับการฝึกลูกแมวให้ได้ผล

สำหรับทาสแมวมือใหม่ ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝึกลูกแมวควรเป็นประสบการณ์ที่สนุกและเป็นการส่งเสริมในเชิงบวก คุณสามารถสอนลูกแมวได้ทุกอย่างตั้งแต่คำสั่งพื้นฐานไปจนถึงการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพียงแต่ต้องใช้ความอดทนและการฝึกอย่างสม่ำเสมอ หรือจะลองใช้เคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้ด้วยก็ได้เช่นกัน

 

  1. ฝึกสอนคำสั่งที่สำคัญ

    การฝึกลูกแมวให้นั่งควรเป็นขั้นตอนแรกในการฝึก เริ่มด้วยการถือขนมไว้หน้าจมูกลูกแมว จากนั้นค่อย ๆ เลื่อนขึ้นไปเหนือหัว  เพื่อให้ลูกแมวเงยหน้าขึ้นมองตามขนม ซึ่งก้นของพวกเค้าจะค่อย ๆ ย่อลงกับพื้นตามธรรมชาติ ทันทีที่พวกเค้านั่งลง ให้พูดคำสั่งว่า 'นั่ง' แล้วค่อยยื่นขนมให้พวกเค้าเป็นลำดับต่อไป ทำขั้นตอนนี้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนกว่าพวกเค้าจะเข้าใจคำสั่ง
     

  2. จัดเตรียมพื้นที่ส่วนตัว

    การจัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยและสะดวกสบายให้กับเจ้าตัวน้อยเป็นสิ่งสำคัญ คุณอาจจะเตรียมกล่องลังหรือกรงไว้ให้พวกเค้าภายในบ้าน สำหรับการฝึกให้อยู่ในกรง ให้วางผ้าห่มนุ่ม ๆ และของเล่นไว้ข้างใน จากนั้นปล่อยให้ลูกแมวสำรวจรอบ ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อพวกเค้าเข้าไปข้างในกรงก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชม คุณสามารถปิดประตูเป็นช่วงสั้น ๆ และค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการฝึกครั้งต่อ ๆ ไป
     

  3. เปิดโอกาสให้สำรวจโลกรอบ ๆ ตัว

    การเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการฝึกลูกแมว เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้ลูกแมวรู้จักกับเพื่อน คนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน อาจจะพาเจ้าตัวน้อยเหล่านี้นั่งรถเล่นในระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้สัมผัสบรรยากาศรอบ ๆ ตัว ทั้งภาพ เสียง และกลิ่น ยิ่งได้สัมผัสกับผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากเท่าไร พวกเค้าก็จะยิ่งมีความมั่นใจและปรับตัวได้ดีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
     

  4. ช่วงเวลาเล่นสนุกสำคัญที่สุด

    การฝึกลูกแมวให้เล่นเป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ เริ่มต้นด้วยการแนะนำเจ้าลูกเหมียวให้รู้จักกับของเล่นชนิดต่าง ๆ และคอยสังเกตว่าของเล่นชิ้นไหนที่พวกเค้าสนใจมากที่สุด เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มสนุกแล้ว คุณอาจชวนพวกเค้าเล่นเกมสนุก ๆ เช่น คาบของ ตะครุบเหยื่อ และชักเย่อ
     

  5. ฝึกใช้กระบะทราย

    เจ้าของควรเริ่มฝึกให้พวกเค้าใช้กระบะทรายตั้งแต่ยังเด็ก โดยวางลูกแมวไว้ในกระบะทรายทุกครั้งหลังมื้ออาหารและหลังการงีบหลับ เมื่อพวกเค้าใช้กระบะทราย ก็ให้รางวัลเป็นขนมหรือคำชมเชย ทั้งนี้ควรวางกระบะทรายไว้ในมุมที่สงบและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำด้วย
     

  6. ปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม

    พฤติกรรมการกินอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าเหมียว จึงควรฝึกให้พวกเค้ามีพฤติกรรมที่เหมาะสม เริ่มต้นด้วยการสอนให้พวกเค้ากินอาหารจากชามและดัดนิสัยชอบขอของกิน นอกจากนี้ควรให้อาหารลูกแมวเป็นเวลาและกำหนดปริมาณตามคำแนะนำ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเค้าจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
     

  7. ฝึกให้จำชื่อตัวเอ

    เป็นการฝึกที่สำคัญและมีประโยชน์ไม่น้อยเลย โดยคุณอาจเริ่มต้นด้วยการเรียกชื่อเจ้าตัวน้อยของคุณ จากนั้นให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อพวกเค้าตอบสนองต่อการเรียก โดยแนะนำให้ฝึกเรียกชื่อพวกเค้าบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
     

    การฝึกลูกแมวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอ เจ้าเหมียวอาจใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้คำสั่งหรือทักษะต่าง ๆ ทั้งนี้เจ้าของควรเลือกฝึกในเชิงบวกและต้องทำให้การฝึกเป็นเรื่องสนุก! อย่าลืมมอบความรัก พูดชมเชย และให้ขนมแสนอร่อยเป็นรางวัลตลอดการฝึกด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝึกลูกแมว

  1. ลูกแมวฝึกยากหรือไม่?  
  2. แม้ว่าเราควรฝึกทักษะและการเข้าสังคมให้เจ้าเหมียวตั้งแต่ยังเด็ก แต่ลูกแมวอาจติดนิสัยชอบเล่นและว่อกแว่กง่ายจนทำให้ฝึกยากกว่าแมวโต อีกทั้งสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงอาจไม่เข้าใจคำสั่งได้อย่างครบถ้วน แต่ด้วยความอดทนและความสม่ำเสมอ เจ้าตัวน้อยของคุณจะเรียนรู้คำสั่งและทักษะพื้นฐานได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้กระบะทรายหรือการตอบสนองเมื่อถูกเรียก

     

  3. ควรเริ่มฝึกลูกแมวตั้งแต่อายุเท่าไหร่?  
  4. ช่วงอายุที่ดีที่สุดในการเริ่มฝึกลูกแมวคือ 8 – 12 สัปดาห์ ในช่วงวัยนี้ ลูกแมวจะเปิดรับการเรียนรู้มากขึ้นและมีโอกาสน้อยที่จะติดนิสัยที่ไม่ดี สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนเริ่มการฝึก เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกแมวมีสุขภาพแข็งแรงและพร้อมสำหรับการฝึก

     

  5. เราสามารถสานสัมพันธ์กับลูกแมวด้วยวิธีใดได้บ้าง?
  6. เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกแมว คุณอาจใช้เวลาร่วมกับพวกเค้าให้มากขึ้น พยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกันเป็นประจำ เช่น การเล่น การดูแล และการกอด นอกจากนี้การจัดตารางกิจวัตรประจำวัน การฝึกเข้าสังคม การฝึกทักษะพื้นฐาน และการตรวจสุขภาพเป็นประจำก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกแมวของคุณเช่นกัน

     

  7. จะบอกลูกแมวว่า “ไม่” ได้อย่างไร?  
  8. ในการบอกปฏิเสธลูกแมวหรือพูดคำว่า "ไม่" ให้ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นแต่ต้องไม่รุนแรง จากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของพวกเค้าด้วยการฝึกอย่างสม่ำเสมอและส่งเสริมในเชิงบวก เพื่อให้ลูกแมวเข้าใจว่าพฤติกรรมไหนดีและแบบไหนที่ไม่ดี ทั้งนี้คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

     

  9. การฝึกลูกแมวใช้เวลานานแค่ไหน?  
  10. โดยทั่วไปจะใช้เวลาหลายเดือนในการฝึกลูกแมว ความสม่ำเสมอและความอดทนเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากลูกแมวมีสมาธิสั้นและอาจไม่เข้าใจคำสั่งทั้งหมดจนกว่าพวกเค้าจะมีอายุประมาณ 6 เดือน แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้ฝึกสอนมืออาชีพ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณใช้เทคนิคการฝึกที่ถูกต้องและเหมาะสม

     

  • การรักษาโรคผิวหนังแมว
    การรักษาโรคผิวหนังแมว
    adp_description_block485
    การรักษาโรคผิวหนังแมว

    • แบ่งปัน

    ผิวหนังและเส้นขนเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของสุขภาพโดยรวมของแมว โดยลักษณะขนที่มีสุขภาพดีจะต้องสวยเงางามและไม่หยาบกระด้าง ส่วนผิวหนังจะต้องอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น ไม่มัน ไม่เป็นขุยหรือขรุขระ การเลือกโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับแมวจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิวหนังและเส้นขนที่ดี เช่นเดียวกับการดูแลขนและการอาบน้ำแมวเป็นประจำ

     

    เราสามารถดูแลสุขภาพผิวหนังและเส้นขนของแมวได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การให้อาหารคุณภาพดีไปจนถึงการลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลที่เหมาะสม การดูแลรักษาโรคผิวหนังของแมวก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก อ่านบทความของเราเพื่อทำความเข้าใจสภาพผิวหนังของแมว พร้อมเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพผิวหนังและเส้นขนให้แข็งแรง

     

    ลักษณะผิวหนังที่มีสุขภาพดี

    เนื่องจากแมวแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะขนต่างกัน ขนที่มีสุขภาพดีจึงมีลักษณะต่างกันด้วย เช่น

    • มีขนปกคลุมบาง ๆ เหมือนไร้ขน (แมวพันธุ์สฟิงซ์)

    • ขนหยิก หลุดร่วงเล็กน้อย (แมวพันธุ์เร็กซ์)

    • ขนสั้นและเรียบลื่น (แมวพันธุ์โอเรียนทัล)

    • แมวบ้านมักจะมีขนชั้นนอกสั้นและขนชั้นในที่อ่อนนุ่มเพื่อเพิ่มความอบอุ่น

    • ขนยาว นุ่มและเรียบ แต่ขนพันกันง่าย

    สารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขนของแมว

    เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย การดูแลผิวหนังจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยผิวของแมวส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยขนที่หลุดร่วงและขนที่งอกขึ้นมาใหม่ วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพผิวหนังและเส้นขนของแมวคือการให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและสมดุล อาหารแมวที่ดีควรประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุคุณภาพสูงที่ย่อยได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้แมวได้รับพลังงานเพียงพอต่อความต้องการแล้ว มันยังช่วยให้ตับและไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

     

    กรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 คือสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพผิวหนังและเส้นขนของลูกแมว สารอาหารสองชนิดนี้ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ควรมีอยู่ในอาหารแมว กรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) และกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก (EPA) จะช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขน รวมถึงช่วยรักษาระดับการซึมผ่านของน้ำในผิวหนังด้วย ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 6 เช่น กรดไลโนเลอิกและกรดอะราซิโดนิก จะช่วยให้เนื้อเยื่อบุผิวในร่างกายของแมวมีสุขภาพดี

     

    คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อค้นหาอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยและความต้องการของแมวได้ หากพบว่าแมวผิวแห้ง มีขนหยาบกระด้างและหลุดร่วงมากผิดปกติ ควรพาพวกเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม

     

    วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อสุขภาพผิวหนังและเส้นขนของแมว

    วิตามินเป็นสารอาหารที่สำคัญ และแมวควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสม วิตามินที่สำคัญพบได้ในส่วนผสมหลายชนิดในอาหารแมว การกินอาหารคุณภาพดีมีคุณค่าครบถ้วนและสมดุลจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี สำหรับวิตามินที่แมวควรได้รับจากอาหารมีดังนี้

    1. วิตามินเอ – จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินเอช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและการมองเห็น อย่างไรก็ตาม วิตามินเอในปริมาณมากอาจเป็นพิษต่อแมว ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบปริมาณที่เหมาะสมสำหรับแมวของคุณ

    2. วิตามินซี – เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสมานแผลและช่วยให้แมวใช้โปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    3. วิตามินดี – ช่วยกักเก็บฟอสฟอรัสและแคลเซียมในร่างกายของแมว เป็นที่รู้จักกันในนาม “วิตามินแสงแดด” เนื่องจากช่วยให้กระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาททำงานได้ดี

    4. วิตามินบี 1 (ไทอามีน) – จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินที่ละลายน้ำได้ มันมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบการเผาผลาญ รวมถึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและการส่งกระแสประสาท

    5. วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) – ช่วยให้สลายคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เพื่อผลิตพลังงานและช่วยขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย วิตามินชนิดนี้ยังช่วยบำรุงสุขภาพผิวหนังและเส้นขนอีกด้วย

    6. วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) – เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ซึ่งจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ แมวควรได้รับวิตามินชนิดนี้เป็นประจำ มันช่วยเสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และยังมีส่วนช่วยให้ผิวหนังของแมวแข็งแรง

    7. วิตามินบี 6 – ช่วยสลายไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเพื่อผลิตพลังงานและจ่ายออกซิเจนไปทั่วร่างกาย

    เช่นเดียวกับวิตามิน แร่ธาตุก็จำเป็นต่อร่างกายของแมวเช่นกัน มันช่วยส่งเสริมการสร้างเอนไซม์ การลำเลียงออกซิเจน การนำสารอาหารไปใช้ และการรักษาความสมดุลของความเป็นกรดด่าง (pH) โดยอาหารของแมวควรมีแร่ธาตุต่อไปนี้

    1. แคลเซียม

    2. ธาตุเหล็ก

    3. โซเดียม

    4. แมกนีเซียม

    5. คลอไรด์

    อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสมสำหรับแมวของคุณ

     

    โรคผิวหนังในแมวที่พบบ่อยและวิธีการรักษา

    โรคผิวหนังของแมวที่พบได้บ่อย เช่น เชื้อราในแมว แมวคันผิวหนัง ทำให้เกาหรือเลียมากผิดปกติ ผิวหนังมีรอยแดงและบวม ขนร่วง หรือคุณอาจพบว่าแมวผิวเป็นสะเก็ดและเป็นขุย ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณสามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดปัญหา

    1. ให้อาหารแมวคุณภาพดี

    ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเลือกอาหารที่ดีที่สุดสำหรับแมว เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและสมดุล วิธีนี้จะช่วยให้แมวได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญในการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิวหนังและเส้นขนของแมวด้วย

    1. แปรงขนเป็นประจำ

    การแปรงขนเป็นประจำช่วยให้ผิวหนังและขนของแมวมีสุขภาพดีได้จริง มันช่วยป้องกันปัญหาขนสังกะตังและขนพันกันเป็นก้อน ปัญหาเหล่านี้มักจะทำให้แมวรู้สึกไม่สบายตัว ขนร่วง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ด้วย แนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะกับลักษณะขนของแมว เพื่อลดอาการระคายเคืองหรือความรู้สึกไม่สบาย

    1. อาบน้ำเพื่อรักษาสภาพผิวหนัง

    การอาบน้ำแมวไม่จำเป็นต้องทำบ่อย เนื่องจากแมวมีนิสัยชอบดูแลตัวเอง และส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบอาบน้ำ อย่างไรก็ตาม หากแมวเริ่มเกาตัวบ่อยขึ้นหรือเนื้อตัวเริ่มสกปรก ควรอาบน้ำให้พวกเค้าด้วยแชมพูที่ออกแบบมาเพื่อแมวโดยเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเนื่องจากเป็นพิษต่อผิวหนังและขนของแมว ทั้งนี้คุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับการอาบน้ำแมวและการเลือกแชมพูที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้

    1. ป้องกันเห็บหมัด

    การติดเชื้อเห็บหมัดเป็นปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในแมว และควรได้รับการรักษาทันที การติดเชื้ออาจทำให้แมวคันผิวหนัง แมวอาจเกาและเลียตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักจะทำให้เกิดบาดแผลหรือขนร่วงเป็นหย่อม

    1. จัดการกับความเครียด

    หากแมวมีอาการวิตกกังวลและเครียดอย่างรุนแรง พวกเค้ามักจะเลียขนบ่อยจนผิดปกติ พฤติกรรมนี้อาจทำให้ขนร่วงเป็นจำนวนมาก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ความเครียดและความวิตกกังวลยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว หากพบว่าแมวเลียตัวบ่อยเกินไป แนะนำให้พาพวกเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายเพิ่มเติม

     

    สภาพผิวหนังของแมวมักเป็นสัญญาณของความไม่สมดุลในร่างกาย หากคุณสังเกตสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังในแมว เช่น เชื้อราในแมว แมวผิวแห้ง ผิวหนังบวมและแดง แมวผิวเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ขนร่วงและหยาบกระด้าง ควรพาพวกเค้าไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบและรับการรักษาอย่างเหมาะสม