IAMS TH
How to Keep Your Cat’s Urinary Tract in Tip-top Shape
How to Keep Your Cat’s Urinary Tract in Tip-top Shape

adp_description_block383
ทำความเข้าใจโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

  • แบ่งปัน

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมวคืออะไร?

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อยในแมว และแมวทุกตัวที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจจะไม่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (NCBI) มีแมวเพียง 1 – 2% เท่านั้นที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่หากน้องแมวมีอาการก็จำเป็นต้องไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม
 

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความไม่สบายอย่างรุนแรง เจ้าของจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับอาการหรือสัญญาณเตือนต่าง ๆ ของโรคให้ดี ซึ่งอาการที่พบได้มีดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยแต่มีปริมาณน้อย
  • มีเลือดปะปนในปัสสาวะ
  • เลียบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มากกว่าปกติ
  • ส่งเสียงร้องออกมาขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะนอกกระบะทราย

การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

ในการวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สัตวแพทย์จะทำการทดสอบตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย โดยคุณหมอจะดูดปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะโดยตรงเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน เมื่อตรวจตัวอย่างปัสสาวะแล้ว คุณหมอก็จะทำการแยกเชื้อแบคทีเรียเพื่อศึกษาต่อไป ขั้นตอนนี้เรียกว่าการเพาะเชื้อและการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอกำหนดยาที่เหมาะสมต่อการรักษาได้
 

การติดเชื้อครั้งแรกหรือการติดเชื้อแบบเฉียบพลันมักจะรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง อย่างไรก็ตาม หากแมวของคุณมีอาการป่วยจากการติดเชื้อเรื้อรัง สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ทำการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อเริ่มให้ยาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
 

สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมวเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง
  • การสอดใส่สายสวนปัสสาวะ
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

แม้ว่าจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยากและพบไม่บ่อย แต่ทางที่ดีก็ควรดูแลน้องแมวอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ โดยการดูแลป้องกันที่แนะนำมีดังนี้

  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแมวดื่มน้ำเพียงพอ แนะนำให้ทำความสะอาดชามน้ำเป็นประจำและหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกวัน
  • ทำความสะอาดกระบะทรายวันละสองครั้ง และควรเปลี่ยนทรายใหม่ทุกสองสัปดาห์
  • หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของปริมาณและสีของปัสสาวะ หากพบการความผิดปกติควรปรึกษาสัตวแพทย์
  • เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่อาจนำไปสู่ปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากแมวของคุณมีอาการของโรคดังกล่าว ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
  • สำหรับแมวสูงวัยและแมวที่มีน้ำหนักตัวเกิน อาจมีปัญหาในการขยับเขยื้อนตัวและไม่สามารถเลียตัวทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง เจ้าของอาจต้องช่วยดูแลเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ

สามารถรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมวด้วยตนเองได้หรือไม่?

การดูแลรักษาน้องแมวที่มีอาการของโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้กินน้ำแครนเบอร์รี แอปเปิลไซเดอร์ และซุปโครงกระดูก ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสามารถบรรเทาอาการของโรคได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาเหล่านี้อาจไม่ช่วยให้น้องแมวหายขาด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โอกาสที่จะเป็นซ้ำก็เพิ่มมากขึ้น ทางที่ดีจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

  1. จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องแมวมีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ?
  2. น้องแมวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

    • ปัสสาวะบ่อยแต่ในปริมาณน้อย
    • อาจส่งเสียงร้องขณะปัสสาวะ
    • เลียบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มากกว่าปกติเนื่องจากอาการระคายเคือง
    • อาจมีเลือดปนในปัสสาวะ

    หากพบว่าน้องแมวมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบสัตวแพทย์ในทันที

  3. หากไม่รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการจะดีขึ้นเองได้หรือไม่?
  4. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบางชนิดสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าอาการไม่รุนแรงหรือเรื้อรัง คุณควรพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

  5. การกินน้ำน้อยเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมวใช่หรือไม่?
  6. น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแมว การกินน้ำน้อยอาจทำให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำและเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วย เจ้าของจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแมวได้รับน้ำเพียงพอตลอดทั้งวัน

  7. แมวที่เลี้ยงในบ้านเสี่ยงต่อโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือไม่?
  8. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ แม้ว่าแมวที่เลี้ยงในบ้านจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่ำกว่าแมวที่เลี้ยงนอกบ้าน แต่หากละเลยเรื่องความสะอาดหรือสุขอนามัย พวกเค้าก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน อย่างกระบะทรายที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นประจำ อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรียร้ายแรงนับไม่ถ้วน และแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในอุจจาระก็สามารถแพร่เข้าไปในท่อปัสสาวะได้ทุกครั้งที่น้องแมวขับถ่าย เจ้าของจึงควรทำความสะอาดกระบะทรายอย่างน้อยวันละสองครั้ง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันอย่างฉับพลัน ความเครียด และภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน

  • รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนสำหรับแมว
    รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนสำหรับแมว
    adp_description_block251
    รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนแมว

    • แบ่งปัน

    แมวเลี้ยงง่าย อยู่ง่าย ไม่ต้องเอาใจใส่อะไรมากมาย ชุดความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริง! แม้จะพึ่งพาตัวเองได้ค่อนข้างดี แต่แมวเหมียวยังคงต้องการการดูแลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การรักษาพยาบาล และการดูแลป้องกัน โดยแมวทุกตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนที่จำเป็น เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีน FVRCP เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสติดเชื้อร้ายแรง และลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
     

    วัคซีนถูกพัฒนามาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง การฉีดวัคซีนให้แมวมักจะพิจารณาจากอายุ สุขภาพโดยรวม การใช้ชีวิต และสายพันธุ์ โดยวัคซีนสำหรับแมวแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ วัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก วัคซีนหลักจำเป็นสำหรับแมวทุกตัว ส่วนวัคซีนทางเลือกจะฉีดให้กับแมวหลังจากพิจารณาสถานการณ์บางอย่างแล้ว
     

    วัคซีนแต่ละชนิดและช่วงวัยที่เหมาะสมของแมว

    การฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยปกป้องแมวจากการตกเป็นเหยื่อของโรคร้ายแรงได้ โดยวัคซีนสำคัญที่ลูกแมวทุกตัวควรได้รับมีดังนี้

    1. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

    วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดเป็นประจำทุกปีหรือทุก ๆ 3 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนที่คุณเลือก เพื่อปกป้องลูกแมวตัวน้อยจากไวรัสเรบีส์ที่อันตราย เชื้อชนิดนี้ไม่ได้พบแค่ในหมาแมวเท่านั้น แต่พบได้ในคนด้วย โดยแพร่กระจายผ่านการกัดหรือข่วนจากสัตว์ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวร้าว สับสน และมีอาการกลัวน้ำหลังผ่านระยะฟักตัว โรคพิษสุนัขบ้าส่งผลร้ายแรงต่อทั้งสัตว์และมนุษย์ ไม่มียารักษา อัตราเสียชีวิตก็สูง การฉีดวัคซีนป้องกันจึงจำเป็นมาก

    1. วัคซีน FVRCP

    ต่อกันด้วยวัคซีนรวมที่ช่วยป้องกันแมวจากไวรัสสามชนิด ได้แก่ ไวรัสไข้หัดแมว รวมถึงเชื้อ Feline Virus Rhinotracheitis (FVR) และ Feline Calicivirus (FCV) ซึ่งก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดในแมว ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน FVRCP เป็นประจำทุกปี

    1. วัคซีน FeLV

    วัคซีน FeLV เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายผ่านทางของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ โดยแมวอาจติดเชื้อขณะเลียขนหรือจากการใช้ชามอาหารชามน้ำร่วมกับแมวที่ติดเชื้อ ไวรัสร้ายแรงนี้อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจาง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงควรฉีดวัคซีน FeLV ให้แมวตั้งแต่อายุยังน้อยหรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ วัคซีนนี้ประกอบด้วย 2 โดส โดยเว้นระยะห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์สำหรับลูกแมว และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อแมวอายุอย่างน้อย 16 สัปดาห์

    1. วัคซีน FPV

    วัคซีน FPV จะช่วยปกป้องแมวจากโรคไข้หัดแมว โดยลูกแมวควรได้รับการฉีดวัคซีน FPV เมื่อมีอายุ 6 – 8 สัปดาห์ และฉีดทุก ๆ 3 – 4 สัปดาห์จนกระทั่งอายุ 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นในช่วงอายุ 1 – 2 ปี

    1. วัคซีนรวม 4 โรค

    วัคซีน F4 หรือ FVRCCP พัฒนาขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคหวัดแมว การติดเชื้อไวรัสคาลิไซในแมว โรคไข้หัดแมว และโรคติดเชื้อคลาไมเดียในแมวซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนของแมว อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ตาในระยะเริ่มแรกด้วย ลูกแมวควรได้รับวัคซีนชนิดนี้เมื่อมีอายุ 8, 12 และ 16 สัปดาห์ จากนั้นฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุครบ 1 ปี และฉีดใหม่ทุก ๆ 3 ปี

    1. วัคซีนรวม 5 โรค

    วัคซีน F5 หรือ Fevac 5 เป็นวัคซีนรวมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของลูกแมวเพื่อรับมือกับไวรัส 5 ชนิด การฉีดวัคซีนชนิดนี้จะช่วยให้ลูกแมวตัวน้อยปลอดภัยจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ
     

    ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

    หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ลูกแมวของคุณอาจรู้สึกไม่สบายตัวและแสดงอาการผิดปกติเล็กน้อย เนื่องจากร่างกายกำลังสร้างกลไกป้องกันเพื่อกำจัดไวรัสร้ายแรง โดยผลข้างเคียงที่พบได้จากการฉีดวัคซีนมีดังนี้

    1. อ่อนเพลีย เซื่องซึม

    2. อยากอาหารลดลง

    3. อาเจียน

    4. มีไข้ 

    5. ท้องเสีย

    6. มีอาการบวมหรือรอยแดงบริเวณที่ฉีด

    การฉีดวัคซีนป้องกันถือเป็นหนึ่งในการดูแลที่สำคัญ มันช่วยให้แมวมีสุขภาพแข็งแรง มีพลัง และกระฉับกระเฉง ขอแนะนำให้พ่อแม่แมวทุกคนวางแผนตารางการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม โดยสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพิ่มเติมได้